ม.วลัยลักษณ์รับมอบฟาร์มสาธิตสุกร-ไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ กรีนฟาร์ม จากบ.ซีพีเอฟ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราชรับมอบโครงการฟาร์มสาธิตสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียวหรือกรีนฟาร์ม จากบริษัทซีพีเอฟ เพื่อแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรสมัยใหม่ของน.ศ.และเกษตรกร

วันนี้ (17 มี.ค.’66) ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รักษาการแทนรองอธิการบดีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สมาร์ทฟาร์ม มวล. และผู้บริหารของมวล. ร่วมกันรับมอบ“โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” จากนายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟและคณะ ซึ่งได้ดำเนินการสร้างสนับสนุนให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นแหล่งฝึกฝนทักษะ เรียนรู้การเกษตรสมัยใหม่แก่นักศึกษาและเกษตรกรต่อไป โดยในพิธีส่งมอบได้รับเกียรติจาก นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธี ณ ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม มวล. อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มวล.ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรม โดยได้จัดการเรียนการสอนในสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มีการทำวิจัย และบริการวิชาการแก่สังคมที่หลากหลาย เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับนักศึกษาและเกษตรกรชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งยังได้จัดตั้ง “ศูนย์สมาร์ทฟาร์ม” เพื่อพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเดิมให้เป็นการบริหารฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งในด้านพืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ และประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากซีพีเอฟ ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ระดับโลก เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์แก่นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต ส่งเสริมความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนสู่การเป็นแหล่งค้นคว้า วิจัยพัฒนาที่ยั่งยืนของเกษตรกรซึ่งจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนของเกษตรกร ต่อไป

“โครงการฟาร์มสาธิตฯ ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามหาวิทยาลัยและซีพีเอฟในฐานะภาคเอกชน ที่เป็นผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในระดับโลก มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การมุ่งพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรสมัยใหม่ และพัฒนาภาคเกษตรอุตสาหกรรมของไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี กล่าวเสริมว่า ศูนย์สมาร์ทฟาร์มดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการเลี้ยงสุกร ไก่ไข่ และโคนม ด้วยการปรับปรุงโรงเรือนที่ไม่ได้ใช้งาน ประกอบด้วย โรงเรือนสุกร 3 หลัง โรงเรือนไก่ไข่ 2 หลัง และโรงเรือนโคนม 1 หลัง เพื่อให้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นแหล่งฝึกฝนทักษะ เรียนรู้การเกษตรสมัยใหม่แก่นักศึกษาและเกษตรกรต่อไป

ด้าน นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา กล่าวว่า ซีพีเอฟ ร่วมขับเคลื่อนและยกระดับภาคปศุสัตว์ของไทยด้วยนวัตกรรมสู่ยุค 4.0 ด้วยการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมวล. ภายใต้“โครงการฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกรขุนและไก่ไข่ระบบปิดอัตโนมัติ (Green Farm)” มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาตรฐานสากลภายใต้ระบบปิด (EVAP) เป็นฟาร์มรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม สำหรับพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกทักษะภาคปศุสัตว์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เป็นสถานที่ศึกษาทดลองและวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร ของนักศึกษาของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่คณาจารย์ ตลอดจนการให้บริการทางวิชาการ พร้อมทั้งพัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ที่ทันสมัย ของนักศึกษาซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่นต่อไป