จากผลการสอบโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ซึ่งวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พบว่าตั้งแต่การประเมินรอบแรกในปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading literacy) ตามนิยามของ PISA นั้นหมายถึงความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน รวมถึงนำไปใช้วิเคราะห์ และสะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนในด้านสะเต็มศึกษาและการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น จากโจทย์ตั้งต้นดังกล่าว จึงได้พัฒนาสู่จุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยและพัฒนานำร่อง “การใช้หนังสือภาพเพื่อเสริมสร้างความคิดอย่างมีวิจารณญาณและการอ่านอย่างมีความหมาย” หรือ โครงการ Picture Book ซึ่งดำเนินการภายใต้ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่มุ่งเน้นเสริมทักษะสะเต็มศึกษาแก่เยาวชนไทย ภายใต้การสนับสนุนโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) โดยใช้หนังสือภาพเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมการอ่านอย่างมีความหมาย พร้อมพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของสะเต็มศึกษาให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น เพื่อปูรากฐานในการเรียนระดับที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต
ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า “เราเห็นแนวทางจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือชิลี ที่ใช้หนังสือภาพเป็นสื่อกลางการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ จึงนำแนวคิดนี้มาต่อยอดร่วมกับเชฟรอนในโครงการ Picture Book ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science โดยพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านและการเขียนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกาและคณะนักวิจัยการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายทางวิชาการ จำนวน 7 แห่งของประเทศไทย เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กๆ ระดับประถมศึกษาตอนต้นสามารถอ่านโดยใช้กระบวนการคิด การฟัง จินตนาการ และตั้งคำถาม พร้อมทั้งจัดอบรมครูให้มีทักษะการจัดการเรียนรู้โดยใช้หนังสือภาพ ซึ่งคัดเลือกจากเกณฑ์ที่เหมาะสมกับโครงการฯและนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น โดยจะต้องสามารถอ่านจบในเวลา 30 นาที รวมทั้งมีเนื้อเรื่องน่าติดตามและดำเนินเรื่องอย่างมีความหมายลึกซึ้ง ทำให้นักเรียนต้องค้นหาหรือได้คิด ซึ่งเราหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นโมเดลสำคัญเพื่อขยายผลในระดับประเทศและเป็นต้นแบบให้อาเซียนต่อไป”
สำหรับโครงการ Picture Book ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 จนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตลอดโครงการจะเห็นได้ว่านักเรียนสามารถฝึกคิดวิเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้นผ่านสื่อการสอนอย่างหนังสือภาพ ด้านนางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเล็งเห็นว่าความสำคัญของการอ่าน ไม่ใช่เพียงแต่ต้องอ่านออกเท่านั้น โดยการใช้หนังสือภาพสามารถช่วยส่งเสริมกระบวนการคิด วิเคราะห์ และการอ่านอย่างมีความหมายได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างมีวิจารญาณให้กับเด็กตั้งแต่อายุน้อย เราจึงได้ตั้งเป้าหมายไปที่กลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1- 4 จำนวนประมาณ 600 คน ใน 16 โรงเรียนจาก 7 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเรียนกับครูที่ผ่านการอบรมในโครงการ Chevon Enjoy Science จำนวน 32 คน ซึ่งปลายทางของโครงการดังกล่าว เราได้เห็นว่าเด็กๆ รักการอ่านมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถแสดงความคิดวิเคราะห์ออกมาได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ Chevron Enjoy Science ที่เน้นเตรียมความพร้อมด้านทักษะสะเต็มให้แก่เยาวชน เพื่อเติบโตมาเป็นพลังคนที่สำคัญแก่ประเทศชาติในอนาคต ตามความมุ่งมั่นของเชฟรอนที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการศึกษา ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญ”
ด้าน นางอรวรรณ โสสะ คุณครูจากโรงเรียนวัดโลกา จังหวัดสงขลา ที่ได้นำเทคนิคการสอนโดยใช้หนังสือภาพจากโครงการฯ มาสอน ได้เล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ว่า “หนังสือภาพ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมในห้องเรียนได้อย่างนึกไม่ถึง โดยเมื่อเราได้ลองจัดการเรียนการสอนกับเด็กหลายๆ กลุ่ม ทั้งเด็กที่มีทักษะการอ่านดี ไปจนถึงกลุ่มเด็กๆ ที่ยังต้องพัฒนาด้านการอ่าน จะเห็นได้ว่าหนังสือภาพสามารถทลายกำแพงระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้ เพราะภาพเป็นสื่อกลางที่ทำให้ไม่ว่าเด็กกลุ่มไหนก็สามารถมองภาพแล้วเข้าใจได้เหมือนเพื่อนๆ แทนที่จะใช้ตัวหนังสืออย่างเดียว อีกทั้งกระบวนการของเราได้เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง โดยเราเริ่มตั้งแต่การ Read Aloud หรืออ่านให้เด็กฟังแล้วให้เขียนเส้นเรื่องเหตุการณ์สำคัญในเนื้อเรื่อง ต่อด้วยการให้เด็กๆ แต่ละกลุ่มมาโต้แย้งถึงความคิดของตัวละครในการตัดสินใจกระทำบางอย่างในเรื่อง และสิ้นสุดลงที่ให้เด็กๆ วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของเนื้อเรื่อง ดังนั้นกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าแสดงออกเท่านั้น แต่เป็นการให้เด็กสามารถอ่านคิดวิเคราะห์ได้เป็นระบบ ซึ่งในฐานะคุณครูมองว่ากระบวนการนี้จะเป็นทักษะติดตัวให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ในวิชาอื่นหรือในชีวิตประจำวันได้”