แขวงทางหลวงชนบทนครศรีธรรมราช จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้
วันนี้(30 ส.ค.66) ที่ห้องประชุมบงกชรัตน์ 2 โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ/องค์กรเอกชน ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่
สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (The Royal Coast) โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ต่อเนื่องภาคใต้ตอนบน เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน โดยมีถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาดังกล่าว
โดยในการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) แบ่งการดำเนินงานเป็น 5 ระยะ ซึ่งโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 2 (จังหวัดชุมพร-จังหวัดสุราษฎร์ธานี-จังหวัดนครศรีธรรมราช-จังหวัดสงขลา) โดยเป็นการสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้จากอำเภอสิชลไปยังอำเภอท่าศาลา โดยเชื่อมต่อถนนทางหลวงหมายเลข 401 เพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เพิ่มศักยภาพของโครงข่ายสายทาง และพัฒนาให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) โดยปรับปรุงถนนทางหลวงชนบทให้มีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง เข้าถึงและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รองรับการเจริญเติบโตของอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลาในอนาคต โดยการประชุมในวันนี้เพื่อให้ประชาชน หน่วยงาน และองค์กรระดับต่างๆ รับทราบถึงผลการศึกษาของโครงการ โดยเฉพาะข้อมูลสรุปแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด