สทนช. ลงพื้นที่ติดตามการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันที่ 21 กันยายน 2566) ที่สำนักงานโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำสาย 3 (คลองหัวตรุด) พื้นที่ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคใต้ และความก้าวหน้าผลการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน รวมทั้งโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายพงศ์ศักดิ์ เมืองดี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังการบริหารจัดการน้ำมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน มีเขตการปกครอง 399 ตำบล 66 อำเภอ 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา และพัทลุง รวมพื้นที่ประมาณ 29,600 ตารางกิโลเมตร มักประสบปัญหาด้านอุทกภัยเป็นประจำเนื่องจากปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงในบางครั้ง สาเหตุจากการไหลของน้ำที่ผ่านเส้นทางน้ำหลากถูกเปลี่ยนทิศทางหรือมีสิ่งกีดขวางจากการก่อสร้างต่าง ๆ เป็นผลมาจากการขยายตัวของชุมชนและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสม ขาดการควบคุม และไม่คำนึงถึงทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในเกณฑ์สูงประมาณ 1,440 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่มักประสบภัยน้ำท่วมเป็นประจำ ได้แก่ บริเวณอำเภอขนอม อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอพระพรหม
ทั้งนี้ สทนช. ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการจัดทำผังน้ำให้ครบ 22 ลุ่มน้ำครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบัน ดำเนินการไปแล้ว 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำผังน้ำ 14 ลุ่มน้ำ (รวมทั้งผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนด้วย) ซึ่งผังน้ำจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและภาวะน้ำแล้ง เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพิจารณาความเหมาะสมการพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดพื้นที่ซึ่งควรสงวนไว้ให้เป็นทางน้ำหลาก เพื่อไม่ให้เกิดการกีดขวางการไหลของน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สำหรับผลการดำเนินงานการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก อยู่ระหว่างการแก้ไขรายงานฉบับสุดท้าย เพื่อเตรียมนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้ต่อไป”
จากนั้น รองเลขาธิการ สทนช. และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ของ 2 อำเภอ ได้แก่ ตำบลไชยมนตรี ตำบลท่าเรือ ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลนาสาร ตำบลช้างซ้าย ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม ลักษณะของโครงการฯ เป็นการก่อสร้างคลองผันน้ำ ที่ไหลมาจากเขาหลวงก่อนเข้าสู่ตัวเมืองไปลงทะเล โดยเป็นการดำเนินการงานขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ 3 สาย ความยาวรวม 18.64 กิโลเมตร งานปรับปรุงคลองวังวัว ความยาว 590 เมตร และงานปรับปรุงคลองหัวตรุด ความยาว 1,190 เมตร นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการงานก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำอีก 7 แห่งด้วย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ สองฝั่งคลอง 17,400 ไร่ สามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช ช่วยลดพื้นที่น้ำท่วม ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 32,200 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้มากถึง 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร