“โรคไข้ดิน” เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต เลี่ยงสัมผัสดินและน้ำเมื่อมีบาดแผล”
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนโรคเมลิออยโดสิส หรือไข้ดิน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำเมื่อมีบาดแผล ไม่เดินเท้าเปล่า ใส่บูทยาวเมื่อต้องลุยน้ำ และดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก หากมีอาการไข้ร่วมกับประวัติสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ป้องกัน ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง
นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส หรือไข้ดิน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 56 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ราย จังหวัดชุมพร จำนวน 1 รายจังหวัดพังงา จำนวน 1 ราย และจังหวัดภูเก็ต จำนวน 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมา คือ กลุ่ม 55 – 64 ปี อาชีพที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ รับจ้าง รองลงมา คือ เกษตรกร จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ ภูเก็ต พังงา ชุมพร ระนอง กระบี่ และนครศรีธรรมราช
โรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อจะอยู่ในดินและในน้ำ เข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1) ทางบาดแผลที่ผิวหนัง 2) ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 3) สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป หลังติดเชื้อประมาณ 1 – 21 วัน จะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
นายแพทย์หิรัญวุฒิ กล่าวเพิ่มว่า วิธีการป้องกันโรคดังกล่าวสามารถทำได้ โดย 1) ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2) หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3) รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุกทุกครั้ง 4) หลีกเลี่ยงการสัมผัส ลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน 5) ลดละเลิกการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นและมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422