ม.ราชภัฏนครฯ ร่วมมือด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น กับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สถานศึกษา จ.นครศรีธรรมราช

(10 เมษายน 2567) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ศิลปวัฒนธรรม อาคาร 28 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2567

โดยมี ดร.สมปอง รักษาธรรม รักษาราชการแทนอธิการบดี เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต และบริการในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับการเรียนการสอน พัฒนาการศึกษาของเยาวชน และพัฒนา ส่งเสริม ความรักสามัคคี มีวินัย ความรู้เข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยของคนในชาติ ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้การพัฒนาท้องถิ่นถือเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตามนโยบายสภามหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 สอดคล้องกับพระราชปณิธาน พระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในการส่งเสริมและสนับสนุนและสนองงานตามพระราชดำริเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ครอบคลุมมิติด้านสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นอย่างสมดุล ยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ถึงปัจจุบัน ภายใต้การกำกับของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย สภามหาวิทยาลัย และการติดตามการดำเนินงาน โดยท่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ซึ่งท่านจะทำการติดตามในพื้นที่เป็นประจำทุกปี

และในปีงบประมาณ 2567 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณจำนวน 35 ล้านบาทเศษ ให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดตรัง จำนวน 11 โครงการหลัก 60 กิจกรรมย่อย อาทิ 1) โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ 2) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก 3) โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก 4) โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน 5) โครงการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน 6) โครงการยกระดับนวัตกรรมชุมชน ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม 7) โครงการพัฒนาสมรรถนะภาษาอังกฤษเพื่อยกระดับชุมชนสู่สากล 8) โครงการชุมชนดิจิทัล (Digital Community) เพื่อรองรับสังคมศตวรรษที่ 21 9) โครงการพัฒนาและยกระดับทักษะ (Up Skill) ฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชาวชุมชนท้องถิ่น 10) โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

11) โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช 8 อำเภอ 27 ตำบล 29 หมู่บ้าน 113 โรงเรียน มีที่จะเกิดขึ้น 30 ผลิตภัณฑ์ 18 องค์ความรู้ 34 นวัตกรรม และจังหวัดตรัง 1 อำเภอ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน 2 โรงเรียน จะมีผลการดำเนินการ 2 องค์ความรู้ 1 นวัตกรรม ทั้งหมดทั้งมวลผลลัพธ์ความสำเร็จดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ส่วนงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ ชุมชน โรงเรียน ประชาชนในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบของ MOU ในครั้งนี้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีหน่วยงาน/ภาคีความร่วมมือทั้งสิ้น จำนวน 58 แห่ง


·
Shared with Public