ประปาภูมิภาคพร้อมทุ่มงบ 1,695 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงขยายระบบประปาการประปาส่วนภูมิภาคสาขานครศรีธรรมราช

75339502_3288805054524422_304125934150090752_o
(21 พ.ย.62) ที่ห้องประชุม 2 ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้จัดให้มีการประชุมร่วมคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC)จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) เพื่อชี้แจงแผนงานโครงการก่อสร้างระบบประปาในพื้นที่ กปภ.สาขานครศรีธรรมราช และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการจัดสรรน้ำให้กับการประปาสวนภูมิภาครองรับแผนงานโครงการปรับปรุงขยายระบบประปา กปภ.สาขานครศรีธรรมราช มีนายสมพงษ์ มากมณี ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม มีนายเรืองศักดิ์ ตั้งศรีตะนัย ผู้อำนวยการกองจัดเตรียมความพร้อมของแผนงานโครงการ กปภ. /ผู้แทน กปภ.เขต 4 สุราษฎร์ธานี /กปภ.สาขานครศรีธรรมราช /ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังล่าง ผู้แทนสำนักงานชลประทานที่ 15 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC)จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 ชุดเข้าร่วมประชุม ชี้แจงข้อเท็จจริง และร่วมแสดงความคิดเห็น
75614131_3288805757857685_4172179004255633408_o
โดยปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขอบคุณการประปาส่วนภูมิภาคและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้เสนอโครงการก่อสร้างระบบประปาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จังหวัดนครศรีธรรมราชประสบปัญหาภัยพิบัติเรื่องน้ำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนน้ำหลากเกิดอุทกภัย พอฤดูแล้งก็ประสบภัยแล้งขาดน้ำอีก จะทำอย่างไรให้สามารถเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีที่การประปาส่วนภูมิภาค ชลประทานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มาหารือกัน ขอให้แสดงความคิดเห็น และนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจ
76917086_3288805997857661_6573005623242260480_o
นายเรืองศักดิ์ ตั้งศรีตะนัย ผู้อำนวยการกองจัดเตรียมความพร้อมของแผนงานโครงการ กปภ. กล่าวว่า เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชนและการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ร่อนพิบูลย์ พระพรหม และ อ.เมืองนครศรีธรรมราช กปภ.จึงได้มีแผนงานโครงการก่อสร้างระบบประปาการประปาส่วนภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช และการพัฒนาแหล่งน้ำรวม 5 โครงการ วงเงินประมาณ 1,695 ล้านบาทเศษ ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช งบประมาณ 1,379.821 ล้านบาท มีการก่อสร้างสถานสูบน้ำดิบ ขอใช้ที่วัดการะเกด(วัดร้าง) ก่อสร้างสถานีผลิตน้ำ ขอใช้ที่ดินของกรมชลประทาน ก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำท่าเรือ ขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำท่าซัก ขอใช้ที่ดินราชพัสดุ และก่อสร้างสถานีผลิตน้ำสำนักงาน กปภ.สาขานครศรีธรรมราช ขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ 2.โครงการก่อสร้างปรับปรุงภายหลังการรับโอนกิจการประปา อบต.ท่าเรือ งบประมาณ 42.964 ล้านบาท 3.โครงการโครงการก่อสร้างปรับปรุงภายหลังการรับโอนกิจการประปาเทศบาลตำบลการะเกด งบประมาณ 33.050 ล้านบาท 4.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านนานอก ความจุ 1.11 ล้านลูกบาศก์เมตร ต.การะเกด งบประมาณ 201.698 ล้านบาท และ 5.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสระสำรองน้ำดิบหนองเข้ ความจุ 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 37.400 ล้านบาท
76919552_3288805044524423_2750262688582991872_o
ผู้อำนวยการกองจัดเตรียมความพร้อมของแผนงานโครงการ กปภ.กล่าวต่อว่า โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ต้องได้รับความเห็นชอบการขอใช้พื้นที่ต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน รวมทั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC)จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากต้องมีการก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบจากคลองชะอวด(การะเกด) หากโครงการที่ 1 เดินหน้าได้จะทำให้โครงการอื่น ๆ สามารถดำเนินการได้ด้วย แต่หากโครงการที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการได้ โครงการทั้งหมดก็จะหยุดชะงักด้วย อย่างไรก็ตาม กปภ.ได้ตระหนักถึงการขาดแคลนน้ำในคลองชะอวดช่วงฤดูแล้งจึงได้มีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดิบสำรอง 2 แห่งไว้รองรับด้วย
78304889_3288805857857675_4849513420057214976_o
ในส่วนของคณะกรรมการจัดการชลประทาน(JMC)จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมี 5 ชุด ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแผนงานโครงการของ กปภ.แต่มีความกังวลในเรื่องของแหล่งน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากตามข้อมูลของชลประทาน คลองชะอวดจะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมีนาคม-กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้น้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากเกือบทุกปีทางชลประทานจะประกาศห้ามทำการเกษตร จึงต้องการให้ กปภ.ไปหาแหล่งน้ำสำรองอื่น ๆ ที่สามารถสูบน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 5 เดือนด้วย เช่น พื้นที่ป่าพรุในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ สามารถสร้างแก้มลิงได้ เพียงแต่ให้ทำการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งก็มีหน่วยงานที่พร้อมเข้าไปก่อสร้างแก้มลิงอยู่แล้ว อย่างไร่ก็ตามหากโครงการของ กปภ. เกิดขึ้นจริงตามแผนงาน/โครงการ และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็ขอให้ตั้งคณะกรรมการบริหารการใช้น้ำร่วมกันด้วย เพื่อให้การใช้น้ำได้รับประโยชน์ในทุกมิติอย่างเท่าเทียมกันทั้งอุปโภค บริโภค การเกษตร และอื่น ๆ ด้วยซึ่งที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการก่อสร้างตามแผนงาน/โครงการของ กปภ.หรือไม่ จึงต้องมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกครั้ง.