ผู้ว่าเมืองคอน ลงพื้นที่พบปะกลุ่มสมาชิกศูนย์เรียนรู้จาก ครบวงจรบ้านตะลุมพอ ที่ปรับปรุงจากบ่อกุ้งร้างมาเป็นไร่จากที่อุดมสมบูรณ์
วันนี้ (13 ม.ค. 63) นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่พบปะกลุ่มสมาชิกศูนย์เรียนรู้จาก (พืชต้นจาก) ครบวงจรบ้านตะลุมพอ หมู่ 8 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางในการส่งเสริมความแข้มแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีนายเกรียงศักดิ์ รักศรีทอง นายอำเภอปากพนัง นายนัฎภัทร อ่อนศรีทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งรวี จิตภักดี นักวิจัยจากสำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้อำนวยการแผนโครงการวิจัยยกระดับภูมิปัญญาพืชจาก ขนาบนากสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกกลุ่มศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศจากครบวงจร โดยมี นางสาว อมรทิพย์ เพชรเกตุ เป็นหัวหน้ากลุ่ม ร่วมนำเสนอการบริหารจัดการ การดำเนินการของกลุ่มศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศจากครบวงจรบ้านตะลุมพอ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว เดิมเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรทำนากุ้งที่รกร้าง ทาง กปร. ได้มาดำเนินการสนับสนุนปรับปรุงบ่อกุ้งทีรกร้างดังกล่าว ให้ชาวบ้านปลูกต้นจากกันเอง บนพื้นที่ของตนเอง ขณะเดียวกันมีผู้ใจบุญได้อุทิศที่ดินของตนเองส่วนหนึ่งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ จากนั้นมีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาให้การส่งเสริมสนับสนุน โดยปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้ามาสนับสนุนทำการวิจัยจากต้นจาก ทั้งการส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากต้นจาก อาทิ การทำน้ำตาลจาก โดยมีการปรับปรุงเพิ่มมูลค่าจากเดิมทำเป็นน้ำตาลปี๊บ กิโลกรัมละ 45 บาท ทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้เพิ่มขึ้น จึงส่งเสริมให้มีการทำเป็นน้ำตาลผง เพิ่มมูลค่าขึ้นเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ส่งเสริมในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของจังหวัดยินดีให้การสนับสนุน และขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่ม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน และเกษตรกร
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งรวี จิตภักดี นักวิจัยจากสำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้อำนวยการแผนโครงการวิจัยยกระดับภูมิปัญญาพืชจาก ขนาบนากสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับสนับสนุนให้ดำเนินการ “โครงการการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2” โครงการวิจัยท้าทายไทยกลุ่มเรื่องนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้บริหารจัดการทุน สำหรับชุดโครงการวิจัย “ยกระดับภูมิปัญญาพืชจาก ขนาบนากสู่ตลาดเชิงพาณิชย์” มีโครงการวิจัยในการพัฒนาชุมชน มีแผนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาศักยภาพชุมชน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.) โครงพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำส้มจากอัดเม็ด ลดความอ้วน 2.)โครงการศึกษาอัตลักษณ์ ตำรับอาหารพื้นถิ่น และคุณค่าทางโภชนาการ จากทรัพยากรป่าจาก 3.)โครงการต่อยอด ภูมิปัญญาจาก ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 4 .)โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและเครือข่ายภูมิปัญญา ต้นจาก 5.) ช่องทางการตลาด ของผลิตภัณฑ์ทรัพยากรจาก ในพื้นที่ขนาบนาก โดยมีเป้าหมายดำเนินการ 6 เดือน ในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการผลักดัน ชุมชนที่มีการรวมตัวเป็นศูนย์เรียนรู้นิเวศน์จากครบวงจร อันเป็นผลผลิต จากงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ โครงการพัฒนา ลุ่มน้ำปากพนังในพระราชดำริ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการ ที่สนใจในตัวผลิตภัณฑ์จาก อยากให้เห็นถึงกระบวนการผลิต ภูมิปัญญา ของชาวไร่จาก รวมทั้งศักยภาพ ของชุมชน ที่จะต่อยอดพัฒนา ตัวผลิตภัณฑ์ของงานวิจัย ต่อไป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลสำเร็จในงานวันนี้จะทำให้ชุมชนมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อรองรับ ตลาดเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานของชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินงาน กับกลุ่มศูนย์เรียนรู้ นิเวศน์จากครบวงจรมาเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า ชุมชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองและยกระดับมาตรฐานชีวิตเพิ่มมากขึ้น และมีการต่อยอด งานวิจัยที่ได้ลงทำในพื้นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 จากรายได้เดิมที่มีอยู่ ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ชุมชนจะขยายเครือข่ายและสมาชิก ต่อยอดผลิตภัณฑ์ สูตรการขายเชิงพาณิชย์และเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก มากยิ่งขึ้นในอนาคตจากการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมผลักดัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งรวี จิตภักดี กล่าว…
//// พรรณี มณีวรรณ/ภาพ-ข่าว
จุรีรัตน์ ยอดถึง/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช