ม.วลัยลักษณ์ จัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” สนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพสธ.) และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของเมืองนคร
ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ( Natural History Museum Walailak University ) ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และมุ่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ของ จ.นครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนา เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ภายใต้งานสนองพระราชดำริฯ อพ.สธ. เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้สืบสานพระปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ ด้วยเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน มีฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และมรดกภูมิปัญญา มีพื้นที่ติดเทือกเขาหลวงและทะเลฝั่งอ่าวไทย เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ โดยมีรูปแบบของอาคารเป็นเลข 8 มีคอร์ทน้ำตกกรุงชิงและคอร์ทชายหาด ตามแนวคิด “ตามรอยเจ้าฟ้าจากยอดเขาถึงใต้ทะเล” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยงบประมาณการก่อสร้างกว่า 300 ล้านบาท โดยขณะนี้มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 30% และจะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ในปี 2565”
ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า “ลักษณะตัวอาคารตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายในอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีฉากหลังเป็นเทือกเขาหลวง มีการจัดแสดงนิทรรศการ 6 กลุ่ม คือ 1) ห้องเขาหลวงทรัพยากรมากมี : แสดงนิทรรศการของทรัพยากรกายภาพของเทือกเขาหลวง พืชพรรณ สัตว์ นก เห็ด รา และจุลินทรีย์ แสดงวิธีการนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 2) ห้องวิถีชนเผ่า-วัฒนธรรมพื้นบ้าน : นำเสนอเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethno Botany) คือการนำพืชพรรณมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวันของชนพื้นเมือง ชนเผ่า ที่จะแสดงวิถีชีวิตตามภูมิปัญญาของชนเผ่าซาไก มอแกน และชาวไทยทรงดำ 3) ห้องการจัดการลุ่มน้ำปากพนัง : แสดงผลการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน 4) ห้องชายฝั่งอุดมสมบูรณ์ : แสดงกายภาพและชีวภาพของชายหาด เพื่อให้เข้าใจการใช้ประโยชน์ของวัตถุดิบชุมชนชายฝั่งเพื่อเศรษฐกิจและชีวิตประจำวัน การเข้าใจทางกายภาพของชายหาดแต่ละรูปแบบ การประมงพื้นบ้าน และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศชายฝั่ง
5) ห้องบริบูรณ์ทรัพยากรอ่าวไทย : จัดแสดงองค์ความรู้ ด้วยการใช้ตู้แสดงสัตว์น้ำ 4 ตู้หลักเสมือนจริง คือ ตู้ปลาฉลามหรือปลาดุร้าย ตู้เต่าทะเล ตู้ปะการังและปลาสวยงาม พร้อมจัดระบบแสง สี เสียง ให้ผู้ชมได้ยินเสียงการสื่อสาร หรือการเวียนว่ายของสัตว์เหล่านั้น 6) ห้องเกริกไกรเจ้าฟ้านักอนุรักษ์ : เป็นห้องเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการทรงงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร 3 ฐาน คือ ด้านกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ตลอดจนผลการดำเนินงานภายใต้โครงการ อพ.สธ. ที่จัดแสดงความคิดรวบยอดจากการเข้าชมและตอกย้ำถึงความมุ่งหมายของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ตามพระราโชวาท สมเด็จพระพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2548 ว่าท้ายที่สุดแล้วต้องการให้ทุกคนตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรของท้องถิ่น รู้จักอนุรักษ์และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน การศึกษาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย เช่น ดิน หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดไปก็จะกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาติและประชาชน นอกจากศึกษาสภาวะของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว การให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างยั่งยืนตลอดไป”
ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแล้วภายในพื้นที่อุทยานพฤกษศาสตร์ ยังมีอาคารที่พักสำหรับผู้เข้าพักเป็นแบบหมู่คณะ พื้นที่ลานกางเต็นท์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และมี Top Tree Tower เชื่อมระหว่าง Canopy Walkway จะมีพันธุ์สัตว์สวยงามให้ศึกษาและเยี่ยมชมในป่าพื้นล่าง นอกจากนี้อุทยานพฤกษศาสตร์มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดกิจกรรมหรือกีฬาทางน้ำสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว อุทยานพฤกษศาสตร์เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้เชิงวิชาการ และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรและภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์สนับสนุน“ชาติพันธุ์มานิ” (ซาไก) โดยได้รับทุนสนับสนุนจัดสร้างเบื้องต้นจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตด้านชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตท่ามกลางทรัพยากรป่าไม้ บนฐานของการพึ่งพิงอย่างสมดุลและพอเพียง”
นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว สามารถเข้าเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจของ อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยให้บริการแล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 222 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80160 โทรศัพท์ : 0-7547-6104-5 email : wbp@mail.wu.ac.th หรือ เพจ Facebook : WBP Walailak Botanic Park