วันนี้(16 ก.ย.62) ที่ห้องประชุมศรีปราชญ์ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดาจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต และแปรรูปไผ่ สู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรจังหวัด ,สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ,สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด, เครือข่ายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัยพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ,หอการค้าจังหวัด, บริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครศรีธรรมราช(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด,
ผู้แทนสถานศึกษา ,บริษัท แบมบูฟาร์ม จำกัดและบริษัท ดีเค เอ็นเนอร์ยี จำกัด ทั้งนี้เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมและพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิต และการแปรรูปผลผลิตจาก “ไผ่” สู่ตลาดโลก โดยการร่วมวางเป้าหมาย, กำหนดนโยบาย, ระดมทรัพยากร, งบประมาณ และเครือข่ายการรวมกลุ่ม เพื่อการสร้างระบบเศรษฐกิจพื้นฐานเกษตรพืชเศรษฐกิจ “ไผ่” โดยมีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
นายกรกฎ เตติรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ บนพื้นฐานการเกษตรที่ดีมีความหลากหลาย ลดการพึ่งพาพืชเศรษฐกิจเดิม ยางพารา และปาล์ม และสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นการรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งสามารถแข่งขัน และกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ดิน,น้ำ และสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนในทรัพยากรธรรมชาติ จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการดูและจัดการแปลงปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด, สนับสนุนพันธุ์ไผ่ที่มีคุณภาพให้ผลผลิตสูงในการจัดตั้งธนาคารกล้าพันธุ์ไผ่, สนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดและรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรผู้ปลูก และเชื่อมโยงการลงทุนจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตจากไผ่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานร่วมกำลังสนับสนุนตามภาระหน้าที่ของหน่วยงาน โดยมีสามหน่วยงานหลักภายในจังหวัดเป็นหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช, พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราชและอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการขับเคลื่อนความร่วมมือให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนร่วมกัน และวางเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมภายใต้ภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานทั้งทางด้านบุคลากร และงบประมาณ
โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต และแปรรูปไผ่ จากฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานในจังหวัดนครศรีธรรมราชสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายแรก คือ ส่งเสริมการปลูกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 30,000 ไร่ พร้อมส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อตลาดพลังงาน ภายในปี พ.ศ.2565 และจะรณรงค์เพิ่มพื้นที่ปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราชไปสู่ระดับ 100,000 ไร่ พร้อมส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไผ่ที่หลากหลาย และมีมูลค่าสูงโดยการยกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภายในปี พ.ศ. 2570
///////////////////
อุไรวรรณ/ข่าว/ภาพ
พรรณี/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช