นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ ค้นพบวิธีการค้นหารูปแบบความสัมพันธ์การทุจริตงบการเงิน โดยใช้หลักการทาง Data Mining

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) ค้นพบวิธีค้นหารูปแบบความสัมพันธ์และปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน โดยใช้ Data Mining ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบบัญชีและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนได้อย่างปลอดภัย พร้อมตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว

อาจารย์ ศิริพร สว่างอารีย์รักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบัญชี สำนักวิชาการจัดการ มวล.เปิดเผยว่า ตนมีความสนใจด้าน Financial Statement หรืองบการเงินที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพทย์แห่งประเทศไทย ว่าสามารถนำงบการเงินนี้มาพิจารณาดูความสำคัญเพื่อการตัดสินใจในการลงทุนได้หรือไม่ หลังจากนั้นได้ทำการทบทวนงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่าสามารถนำงบการเงินมาวิเคราะห์เพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

อาจารย์ ศิริพร กล่าวต่อไปอีกว่า จากนั้นตนและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุทธิพร ธนธรรมเมธี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล.จึงได้นำหลักการทางการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริต (Fraud Triangle) มาประยุกต์ใช้ในการหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน พบว่า วิธีการดังกล่าวสามารถค้นพบปัจจัยหรือองค์ความรู้ที่สำคัญในลักษณะที่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ (Associated Patterns) ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยอื่นๆ ที่มีการค้นหาปัจจัยเดี่ยวๆ ที่ไม่มีการระบุรูปแบบความสัมพันธ์ของปัจจัย โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ค้นพบรูปแบบความสัมพันธ์ เช่น อัตราส่วนหนี้สินระยะยาวต่อสินทรัพย์รวม (Long-term debt/Total assets) มีความสัมพันธ์คู่กับ อัตราส่วนหนี้สินระยะยาวต่อทุนและเงินสำรองทั้งหมด (Long-term debt/Total capital and reserves) ที่ส่งผลต่อการตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน เพราะการที่กิจการมีสินทรัพย์รวมหรือรวมทุนและสำรองที่เพียงพอต่อการชำระหนี้สินระยะยาวได้นั้น เป็นประเด็นที่ผู้ใช้งบการเงินต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เนื่องจากผู้บริหารอาจจะมีแรงจูงใจที่มีการนำเสนอรายการหรือมีการจัดประเภทรายการในงบการเงินที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้แสดงสถานะการเงินของกิจการดี มีความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งมีความสามารถในการก่อหนี้สินเพิ่มเติมได้

อาจารย์ ศิริพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการศึกษาวิจัยนี้ ยังค้นพบปัจจัยที่แตกต่างจากงานวิจัยอื่นๆ ที่ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาเกี่ยวกับการตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน คือ (1) อัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อกำไรขั้นต้นของธุรกิจ (Gross profit/Primary business profit) (2) อัตราส่วนหนี้สินระยะยาวต่อสินทรัพย์รวม (Long-term debt/Total assets) และ (3) สินทรัพย์รวม (Total assets) ซึ่งการค้นพบดังกล่าวนับเป็นมิติใหม่ของการวิเคราะห์รูปแบบงบทางการเงิน ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Open Innovation: Technology, Market, and Complexity: Scopus Q1 Percentile: 93
“ผลจากการศึกษาวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยลดเวลาในการทำงานของผู้ตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบบัญชี รวมถึงช่วยให้นักลงทุนและผู้ใช้งบการเงิน ได้นำรูปแบบความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อการตกแต่งตัวเลขในงบการเงินไปใช้ในการวิเคราะห์เบื้องต้นได้และสามารถช่วยในการกำหนดนโยบายที่ใช้สำหรับการป้องกันการตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน สำหรับผู้กำกับดูแลหรือเจ้าของกิจการได้อีกด้วย”อาจารย์ ศิริพร กล่าวทั้งนี้ผู้สในใจสามารถติดตามอ่านรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ : https://doi.org/10.3390/joitmc7020128