วันนี้ ( 8 ธ.ค.64) ที่บริเวณด้านหน้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลนาทราย หมู่ 2 อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช U2Tตำบลนาทราย ดำเนินการจัดกิจกรรม ครัวปันสุขตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชน “ชุมชนปลูกรักษ์ ผักปลอดสารพิษ BY U2T” ซึ่งดำเนินงานในงบประมาณ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ1ตำบล1มหาวิทยาลัย ในสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม มอบหมายให้นักจัดการทางสังคม ได้ดำเนินการจัดโครงการเพื่อยกระดับอาชีพ และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในตำบลนาทราย โดยการจัดโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้ในครัวเรือน ส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตรภายในครัวเรือนของเกษตรกรในชุมชน โดยการส่งมอบ ต้นกล้าผักสวนครัว ได้แก่ ต้นพริก และต้นมะเขือ , บัวรดน้ำ , จอบพร้อมด้าม , ช้อนปลูก , ช้อนพรวน , กระถาง , ดินปลูก ซึ่งได้ดำเนินการมอบให้ครบทั้ง 5 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 35 คน ในพื้นที่ตำบลนาทราย โดยมี ผศ.ดร.วีระยุทธ สุดสมบูรณ์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช นายจรัญ บุญล้อม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย นางสาวอภิญญา ทรงสุรางค์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาทรายและทีมบริหารฯ นายวัชรา ชุมธรรม กำนันตำบลนาทราย ผู้ใหญ่บ้าน และนักจัดการทางสังคมตำบลนาทราย ร่วมส่งมอบต้นกล้าผักสวนครัว และอุปกรณ์ให้กับเกษตรกรในชุมชน
“ครัวปันสุข” การปลูกพืชผักสวนครัว หลายคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก คงต้องมีพื้นที่ทำแปลงพอสมควร คนเมืองที่มีพื้นที่น้อยคงยิ่งเป็นเรื่องที่ยาก หรืออาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วโดยเฉพาะปัจจุบันภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 การปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพ ทำให้คนได้ร่วมกันเรียนรู้ ทำกิจกรรม และแบ่งปันกัน เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อสังคมไทยมาช้านาน ลดรายจ่าย มีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค และยังสามารถสร้างงานสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งหากมีผลผลิตเหลือจากกินเองแล้ว ก็สามารถแบ่งขาย สร้างรายได้เสริมได้ นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่นการแปรรูปอาหาร เป็นต้น การดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชาที่ได้พระราชทานไว้นั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีภูมิคุ้มกันลดการพึ่งพาจากปัจจัยภายนอกแม้ในยามวิกฤต ก็ตาม