โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 9 คืนสู่ลุ่มน้ำป่าสัก จัดกิจกรรมเอามื้อที่ จ.นครราชสีมา
ชูเกษตรแบบ โคก หนอง นา สู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหาร

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) จัดกิจกรรมเอามื้อ ณ จังหวัดนครราชสีมา ลุ่มน้ำป่าสัก เดินหน้าภารกิจถ่ายทอดองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่ปีที่ 9 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยลงมือทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานสำหรับการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ของมนุษย์ได้อีกด้วย โดยวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “ในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ให้โลกพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เพราะในโคก หนอง นา จะมีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งจะเป็นตัวสร้างสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ นำมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพหรือ biodiversity จากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ทั้งในน้ำ ใต้ดิน บนดิน หรือในป่า อันไม่เพียงช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน แต่ยังช่วยให้มีอาหารการกินสมบูรณ์ เกิดความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของสหประชาชาติในการขจัดความอดอยาก (zero hunger) อีกด้วย การทำเกษตรแบบโคก หนอง นา จึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และช่วยโลกไปพร้อมๆ กัน”

นอกจากนั้น การทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นยังช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนของภาคการเกษตร ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า “จากข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่าภาคการเกษตรมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูง ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ก๊าซมีเทนเกิดมากในการทำเกษตรเชิงเดี่ยว หรือเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวที่เป็นฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่และใช้ยาปฏิชีวนะ ก็จะทำให้กระบวนการย่อยสลายเกิดก๊าซมีเทนขึ้น ไม่ว่าจะในลำไส้ของสัตว์หรือมูลสัตว์ที่ถ่ายทิ้งออกมา แม้แต่กระบวนการหมักของฟางกิ่งไม้ใบไม้ที่มีสารเคมีอยู่ด้วย ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการใช้น้ำสมุนไพรรสจืดเพื่อกระตุ้นกลไกการทำงานของจุลินทรีย์ให้สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดก๊าซมีเทน ในทางตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้เกิดออกซิเจนขึ้นมาด้วยซ้ำ”

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงแนวคิดหลักและรายละเอียดกิจกรรมว่า “ครั้งนี้นับเป็นกิจกรรมเอามื้อครั้งแรกของโครงการ ‘ตามรอยพ่อฯ’ ปี 9 หลังจากที่ได้ชะลอการจัดกิจกรรมออนกราวด์ถึงกว่า 1 ปีเต็ม ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา โครงการ ‘ตามรอยพ่อ’ ได้เดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด ‘9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน’ ผ่านกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์และเฟซ บุ๊ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลิปวิดีโอ ‘คู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ’ ที่ให้ความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นเรายังช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแคมเปญ ‘รวมพลังสู้โควิด-19’ โดยทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยโควิด-19 ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติรวม 19 แห่งทั่วประเทศ จัดคาราวานแจกตะกร้าปันสุข ชุดต้มและน้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า และกล่องกรีนบ็อกซ์ (Home Isolation Green Box) ชุดดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้านไปเป็นจำนวนมาก ไปยัง 252 พื้นที่ทั่วประเทศ”

นายอาทิตย์ กล่าวถึงกิจกรรมเอามื้อ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในครั้งนี้ว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งเป็นปีสรุปผลความสำเร็จของโครงการ เราจึงกลับมาจัดกิจกรรมในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการตามรอยพ่อฯ เมื่อ 9 ปีที่แล้วอีกครั้ง โดยเลือกพื้นที่เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของคุณสุณิตา เหวนอก ซึ่งเป็นหนึ่งในคนต้นแบบ ‘คนหัวไวใจสู้’ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่และคนรุ่นลูกหลาน รวมถึงแปลงพื้นที่ของตนเองเป็น 1 ใน 19 ศูนย์ช่วยโควิด-19 ในแคมเปญรวมพลังสู้โควิด-19 เราจึงมาจัดกิจกรรมเอามื้อในพื้นที่ของคุณสุณิตา เพื่อแสดงความขอบคุณในความมุ่งมั่นและความเสียสละ”

นายบุญล้อม เต้าแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ กล่าวเสริมข้อมูลพื้นที่ว่า “นครราชสีมาหรือโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน มีพื้นที่ป่าเขาและพื้นที่เกษตรจำนวนมาก ทางทิศตะวันตกเชื่อมกับจังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งรวมลุ่มน้ำสำคัญ 3 ลุ่ม คือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และทางทิศตะวันตกมีพื้นที่บางส่วนที่ไหลไปลงในลุ่มน้ำป่าสัก เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีประชากรมากมีความต้องการน้ำสูง ประกอบกับมีภัยแล้งบ่อยครั้ง โครงการจึงนำเสนอพื้นที่ของคุณสุณิตา เหวนอก เป็นพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในโคราช เพราะได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปลงมือปฏิบัตินั้น สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย หรือภัยจากโรคระบาด เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถีของคุณสุณิตาก็ผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างดี นอกจากจะสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ยังส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเพื่อนมนุษย์ในสังคมในชุมชนอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ด้าน นางสาวสุณิตา เหวนอก (นวล) เจ้าของพื้นที่ เสงี่ยมคำกสิกรรมวิถี ขนาด 6 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวกลาง ต.จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “นวลเป็นคนโคราชโดยกำเนิด พี่น้อง 4 คนเป็นลูกคนที่ 2 ครอบครัวเป็นเกษตรกรที่ทำงานหนัก มีแต่หนี้สิน เมื่อจบ ป.6 ก็ทำสวนทำนากับที่บ้าน พออายุ 16-17 ปี พ่อแม่ให้ไปทำงานโรงงานจึงแอบเรียน กศน. โดยทำงานส่งตัวเองเรียนและส่งเงินให้ที่บ้านด้วย จึงต้องทำงานหนักมากทำทั้งโรงงานเย็บผ้า โรงงานของเล่น ฯลฯ ในที่สุดก็เรียนจนจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช พออายุ 29 ปี สอบติดราชการและเรียนต่อจนจบนิติศาสตร์ มหาวิธรรมศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน อายุ 30 กว่าทำงานเป็นนิติกรที่รังสิตปัจจุบันย้ายมาที่ อ.จักราช จุดเปลี่ยนคือหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้ดูรายการสารคดีโทรทัศน์ ‘แสงจากพ่อสู่ความยั่งยืน’ ทุกคืน ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ จนมีโอกาสพบ อ.เข้ม (ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ) ซึ่งได้ชวนให้มาเป็นจิตอาสาช่วยโครงการท่องเที่ยวตามศาสตร์พระราชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ แล้วจึงไปอบรมการทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งที่ศูนย์ภูมิรักษ์ฯ อบรมออกแบบโคก หนอง นา โมเดลที่วัดหนองสองห้อง อบรมที่ศูนย์คืนป่าสัก แล้วตัดสินใจลงมือทำบนที่ดินแปลงนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยของครอบครัว เพราะทำเองรู้ว่าเราใส่อะไรลงไป โดยปลูกพืชต่างๆ เช่น กล้วย ละมุด อ้อยพันธุ์สุพรรณ 50 ถั่วลิสง เป็นต้น”

นางสาวสุณิตา กล่าวถึงความสุขที่ได้จากการตามรอยศาสตร์พระราชาว่า “มีความสุขมาก ช่วงแรกที่ลงมือทำแม่ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมมาดู เพราะเสียดายที่ดิน แต่พอปีนี้ สิ่งที่เราทำเริ่มผลิดอกออกผล แม่ก็เข้ามาดูเกือบทุกวันรู้สึกว่าตัวเองคิดถูกแล้วที่เดินตามรอยพ่อ แม้จะต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก แต่ก็คุ้มค่าที่ทำให้ครอบครัวยอมรับได้ และยังสร้างความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น สร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารให้ครอบครัว อีกทั้งยังภูมิใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนทำตามด้วย โดยหลังจากนี้อยากทำสวนสมุนไพรเพิ่มในพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว”

กิจกรรมเอามื้อในครั้งนี้ประกอบด้วยการทำแปลงปลูกผักอินทรีย์ ขุดปรับคลองไส้ไก่รอบแปลงนาและหนองน้ำ ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ห่มฟาง ใส่ปุ๋ยแห้งปุ๋ยน้ำ ทำเครื่องกรองน้ำถัง 200 ลิตร ทำเครื่องสูบน้ำพลังงานโซล่าเซล แปรรูปผลผลิต อาทิ สบู่ฟักข้าว แชมพูดอกอัญชัน กล้วยหมัก ชาตะไคร้ ไข่เค็ม โดยดำเนินมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น อาทิ การควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนต้องแสดงผลยืนยันการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ก่อนร่วมงานไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมถึงเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม เป็นต้น
ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

เกี่ยวกับโครงการ“พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน
โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ตามแผนหลัก 9 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 3 ปี ระยะแรก คือ การตอกเสาเข็ม สร้างการรับรู้ ระยะที่ 2 การแตกตัว เป็นการขยายผล สร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระยะที่ 3 การขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับสู่การแข่งขันได้ ต่อยอดการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ด้วยการเดินตามบันได 9 ขั้นไปสู่ความพอเพียงตามแนวทางศาสตร์พระราชา และการวางรากฐานการพัฒนามนุษย์ เพราะหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนา คือ คน โครงการจึงพยายามสร้างคน จากคนมีใจ สู่เครือข่าย และแม่ทัพผู้พาทำ เพื่อร่วมกันสืบสานศาสตร์พระราชาต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน โปรดติดต่อ:
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์
ภัทร ตันดุลยเสรี / ดารินทร์ นพคุณ
โทร 0-2545-6876 / 0-2545-6930
อีเมล์: Pattara@chevron.com; DNopkhun@chevron.com;