วันนี้(25 ก.ย.62) ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 2/2562 โดยมีนายจรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และคณะกรรมการจากส่วนราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบโรคจากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 10 ลำดับแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ 1 มกราคม – 24 กันยายน 2562 ประกอบด้วย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 16,773 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อุจจาระร่วงเฉียบพลัน 15,566 ราย ไข้หวัดใหญ่ 4,080 ราย ไข้เลือดออกทุกชนิด 3,173 ราย เสียชีวิต 8 ราย ปอดบวม 3,013 ราย ตาแดง 2,049 ราย มือ เท้า ปาก 962 ราย ไข้สุกใส 956 ราย อาหารเป็นพิษ 873 ราย และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด 525 ราย
และจากการประเมินความเสี่ยงโรคจากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา อาทิ ไข้หวัดใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วย 4,080 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อัตราป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง 2.46 เท่า ซึ่งกลุ่มเสี่ยง ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 80 โรคไข้เลือดออก มีผู้ป่วย 3,173 ราย เสียชีวิต 8 ราย อัตราป่วยสูงเป็นอันดับ 12 ของประเทศ และ สูงเป็นอันดับ 1 ของเขตสุขภาพที่ 11 ส่วนโรคพิษสุนัขบ้าในคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย นับเป็นรายที่สองของประเทศในรอบปี โรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู พบผู้ป่วย 85 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2562 ตั้งแต่ 1 มกราคม-20 กันยายน 2562 พบจำนวน 34 ตัวออย่าง แยกเป็นแพะ 2 ตัวอย่าง โค 10 ตัวอย่าง สุนัข 22 ตัวอย่าง สว่นแมว ไม่พบเชื้อ ซึ่งปีนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 184 แห่ง ได้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 267,067 โด๊ส วัคซีนกรมปศุสัตว์ 16,000 โด๊ส
ส่วนการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนั้น ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย ซึ่งโรคดังกล่าวจะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่หากสุกรติดเชื้อแล้วจะป่วยตายเพราะไม่มียารักษา ซึ่งทางกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และโรคไข้หวัดนก ยังไม่พบการระบาดเช่นกัน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบ สถานการณ์โรควัณโรคจังหวัดนครศรีธรรมราช คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยประมาณ 2,000 คน แต่สามารถตรวจพบและได้รับการรักษาประมาณ 1,500 คน และพบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก หรือ XDC-TB จำนวน 2 ราย ซึ่งต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง 22 เดือน ส่วนผู้ป่วยวัณโรคทั่วไปต้องรักษาต่อเนื่อง 6 เดือน