วิศวะฯ มวล.จับมือ PETROMAT เป็นตัวแทนศูนย์ฯภาคใต้ สร้างเครือข่ายวิจัยขับเคลื่อนฺ BCG model รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพอลิเมอร์


สาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG model ของประเทศและผลิตกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพอลิเมอร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา เสนีย์ศรีสกุล รักษาการแทนหัวหน้าสาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล.เปิดเผยว่า สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มวล.ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิก PETROMAT ล่าสุดของศูนย์ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งศูนย์มีเครือข่ายนักวิจัยกว่า 200 คน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุที่ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ จาก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มวล. เพื่อเป็นตัวแทนทางภาคใต้ของศูนย์ฯ ในครั้งนี้จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ศูนย์ฯ ด้วยคณาจารย์ในหลักสูตรที่มีความเชี่ยวชาญและมีงานวิจัยด้านวัสดุพอลิเมอร์ พลาสติก ไม้ ยาง รวมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ โดยเฉพาะด้านการเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจทางภาคใต้ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่วิจัยกระบวนการผลิต ควบคุม พัฒนาวัสดุไม้จนถึงการเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้ง เช่น ขี้เลื่อย เศษยาง ทลายปาล์ม อันจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนขยายผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา กล่าวต่อไปอีกว่า นับตั้งแต่ได้มีหนังสือรับรองการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยสถานการณ์โควิด 19 จึงทำให้การพบปะผู้บริหารและทีม PETROMAT เป็นเพียงผ่านระบบออนไลน์ เมื่อเร็วๆนี้ สถานการณ์คลี่คลาย ประจวบเหมาะกับอาคารปฏิบัติการปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ปรับปรุงเพื่อการเรียนการสอนในหลักสูตรเสร็จเรียบร้อย ทางหลักสูตรจึงเชิญผู้บริหารและคณะทำงานของศูนย์ PETROMAT มาเยี่ยมชมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ภาคใต้ และการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินงานวิจัยของคณาจารย์ในหลักสูตร พร้อมกับร่วมพิธีเปิดอาคารฯอย่างเป็นทางการ ซึ่งในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ และสมาชิกศูนย์ฯ เดินทางมาร่วมงานงานกิจกรรมดังกล่าวในชื่อ PetromatNetworking@WU ทั้งนี้นักวิจัยทั้งสองสถาบันได้ดำเนินการประชุมหารือเพื่อขอทุนวิจัยร่วมกันในลักษณะโครงการใหญ่ หรือการแก้ปัญหาโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมร่วมกันต่อไป

ในตอนท้ายนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ได้กล่าวถึง สาขาวิชาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มวล. ซึ่งเป็นหลักสูตรปรับปรุงใหม่ ระดับปริญญาตรี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 คือ พัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ตอบสนองต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนบน ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา 2563 มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสูง ตอบสนองการพัฒนาประเทศ เน้นการดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการเพื่อขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และด้วยผลการดำเนินงานทั้งด้านงานวิจัยและวิชาการจากคณาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรฯ ที่โดดเด่น ในปีที่ผ่านมาหลักสูตรได้รับความสนใจมีนักเรียนเข้าศึกษาต่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจากภาคใต้ นอกจากนี้หลักสูตรได้รับจัดสรรงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์รายวิชาปฏิบัติการเพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่านักศึกษาจะได้เรียนและฝึกปฏิบัติการกับเครื่องมือที่ทันสมัย และอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างแน่นอน