มทร.ศรีวิชัย (ไสใหญ่) ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการบูรณาการสู่ความยั่งยืน


อาจารย์สุภาพร ไชยรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) จัดกิจกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์การท่องเที่ยวของ อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการนำกิจกรรมโยคะผสานกายใจจิต ซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาและธรรมชาติในพื้นที่ ทำให้เกิดคุณค่าและความหลากหลายในการท่องเที่ยวมากขึ้น และเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ณ Greenspace Living น้ำตกท่าแพ อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

การท่องเที่ยว ถือเป็นภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากจะสร้างรายได้ยังก่อให้เกิดการสร้างอาชีพต่างๆ สามารถสร้างผลประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อแรงงานทั้งระบบ ช่วยกระจายรายได้และการจ้างงาน ปัจจุบันกระแสนิยมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว มีความสนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้อาจเกิดจากความต้องการสัมผัสกับธรรมชาติและเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้คนรุ่นหลังได้เห็นวิถีชีวิต การท่องเที่ยวชุมชน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในการนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ที่มุ่งเน้นสร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว

โดยการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยวเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ครั้งนี้มีสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่ น้ำตกท่าแพ เป็นน้ำตกที่อยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ตำบลช้างกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีด้วยกันทั้งหมด 10 ชั้น แต่ชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำได้ มีบริเวณ 3 ชั้นเท่านั้น ก็คือ ชั้นหนานแพน้อย ชั้นหนานนางครวญ และ ชั้นหนานเตย นับว่าเป็นน้ำตกที่สวยงาม เหมาะแก่การเล่นน้ำ เที่ยวชมความสวยงามของน้ำตก พักผ่อน หย่อนใจ และชมวิว โดยรอบจะมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้ ไว้สำหรับเรียนรู้ระบบนิเวศต่างๆ รวมไปถึงความหลากหลายทางธรรมชาติ เพราะบริเวณรอบน้ำตกจะมีธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยงามเหมาะกับการเดินป่าชมธรรมชาติ และศึกษาพันธุ์ไม้ต่างๆ โดยการนำกิจกรรมโยคะผสานกายใจจิต มาเป็นกิจกรรมบูรณาการการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาและธรรมชาติในพื้นที่ ทำให้เกิดคุณค่าและความหลากหลายในการท่องเที่ยวมากขึ้น และเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

คุณรุจิรา อาทิเวช วิทยากร กล่าวว่า การเล่นโยคะเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ช่วยสร้างความสมดุลของร่างกายและจิตใจ และจิตวิญญาณให้เป็นหนึ่งเดียว การฝึกโยคะเป็นกระบวนการสำหรับฝึกกาย ฝึกการหายใจ และฝึกจิตให้มีความจดจ่อกับเรื่องลมหายใจเข้าออก อันจะนำไปสู่การมีสมาธิที่ดีขึ้น ในแง่ปฏิบัติต้องรวมสามอย่างเข้าด้วยกัน คือ การเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ การประสานลมหายใจเข้าออกกับการเคลื่อนไหว และมีจิตสงบนิ่งในขณะที่เคลื่อนไหว และทุกครั้งที่สอน ทำให้ตนมีความสุข อยากเห็นทุกคนมีสุขภาพดี
คุณอารยา สาระคุณ ผู้ประกอบการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นการมอบโอกาส นักท่องเที่ยว ในการพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์ ผ่านการมีส่วนร่วมในการกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ เป็นการท่องเที่ยวที่ได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของชุมชน โดยได้มีส่วนร่วมลงทำกิจกรรมกับชุมชนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนทำให้สัมผัสและเข้าถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) จัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อสร้างสรรค์การท่องเที่ยวของอำเภอช้างกลาง ด้วยกิจกรรมโยคะผสานกายใจจิต ซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาและธรรมชาติในพื้นที่อำเภอช้างกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และเพื่อให้นักท่องเที่ยวและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวรับรู้ว่ามีกิจกรรมโยคะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและมีสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว ทำให้เกิดคุณค่าและความหลากหลายในการท่องเที่ยวมากขึ้น