วันนี้ (18 ส.ค.65) ที่โรงแรมทวินโลตัส นครศรีธรรมราช สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายใต้สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงานประชุมในวาระ ครบรอบ 19 ปี เครือข่ายงดเหล้า ตอน “ร้อยปี ร้อยเครือข่ายคน 3 วัย สร้างสุข สู่ทศวรรษที่ 3” โดยมีนายสมพงศ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกล่าวต้อนรับ กิจกรรมครั้งนี้มี ผู้แทนประชาคมเครือข่ายงดเหล้าทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 350 คน เข้าร่วมกิจกรรม มีเวทีแลกเปลี่ยนวิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์โลกกับทิศทางการทำงานงดเหล้า จากผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานรณรงค์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ MR. LARS JOHAN LENNART BENGTSSON ผู้ประสานงาน จากองค์กร IOGT NTO Movement ประเทศสวีเดน เป็นทิศทางนำการทำงานงดเหล้า ก้าวสู่ ทศวรรษที่ 3 ใน 10 ปีต่อไป พร้อมกันนี้ได้ร่วมกล่าวปฏิญญาภาคีงดเหล้าร่วมกัน
นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีความชุกผู้ดื่มแอลกอฮออล์ ร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ 28 ด้วยความเป็น จังหวัดใหญ่มี 23 อำเภอ มี 12 สถาบันอุดมศึกษา 11 อาชีวะศึกษา ล้วนแต่เป็น กลุ่มเป้าหมายเสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเป็นประตูนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ ส่วนในด้านการแก้ไขปัญหา มีการดำเนินการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างกระแสและประชาสัมพันธ์ผ่านงานต่างๆ อาทิ งานสารทเดือนสิบปลอดเหล้า มีการประกาศนโยบาย พร้อมจัดตั้ง ชุดปฎิบัติการณ์ควบคุมปัจจัยเสี่ยง สามารถลดผลกระทบ การทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งไม่พบการขายและโฆษณา เป็นแบบอย่างของการจัดงานที่ปลอดภัยปลอดเหล้า มีการพัฒนาต้นแบบการจัดงานงดเหล้าเข้าพรรษาแบบสร้างสรรค์ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นลักษณะ คาเฟ่แคมป์ “มานคร นอนวัด” และกิจกรรมต่างๆ ชุมชนคนสู้เหล้าต้นแบบ 6 ชุมชนที่ทำงานงดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยง การมอบรางวัล ร้อยครูดีไม่มีอบายมุขตั้งแต่ ปี 2558 จวบจนปัจจุบัน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยจากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเทียบกับ 20ปีที่ผ่านมา มีแนวแนวลดลงเล็กน้อย โดยในปี 2550 มีความชุกผู้ดื่มในอายุ 15ปีขึ้นไป ร้อยละ 30 เทียบกับผลสำรวจล่าสุดในปี 2564 มีความชุก ร้อยละ 28 ซึ่งแนวโน้นที่ลดลงเล็กน้อยนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการขับเคลื่อนรณรงค์ของเครือข่ายงดเหล้าผ่านโครงการรณรงค์ต่างๆ ตลอดทั้งปี ประกอบกับที่มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทำให้การทำการตลาดของภาคธุรกิจทำได้ยาก อีกทั้งมีหน่วยงานต่างๆมาร่วมกันเห็นปัญหาผลกระทบต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในโลกหมุนเร็ว จากเทคโนโลยี วิธีชีวิตผู้คน ช่องว่างระหว่างวัย คุณค่าความหมายของแต่ละวัย ทำให้สังคมยุคสมัยนี้ ไม่เหมือนกับ 19 ปีก่อน แม้ว่าเครือข่ายฯ จะมีฐานการทำงานที่เข้มแข็ง มีสมาชิกทั่วประทศ เปรียบกับเป็นรากที่แข็งแรงยึดมั่นกิ่งก้านที่แผ่ขยายไป เราจะต้องเรียนรู้สภาพสังคมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงนี้ ดินแดนใหม่ที่เราขยายระบบนิเวศออกไป สังคมที่เปลี่ยนแปลงหรือของผู้คนต่างวัย รวมทั้ง เทคโนโลยีเรียกร้องพวกเราให้ปรับตัว และเชื่อว่าบทเรียนของ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่แกร่งกล้าเติบโต แต่เรายืดหยุ่น อ่อนไหวและรับรู้ความเปลี่ยนแปลงและก็ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆได้ จึงฝากสมาชิกเครือข่ายทั้ง 3 วัยที่มาช่วยขยายงานเครือข่ายงดเหล้า รอร่วมชื่นชมวันที่ต้นไม้ต้นนี้ ป่าผืนนี้ ระบบนิเวศแห่งนี้ จะแพร่ขยายและก็สร้างประโยชน์ ให้กับประเทศต่อไป
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยว่า ในทศวรรษที่ 3 ของเครือข่ายงดเหล้า เราเน้นการเสริมพลังจากปัจจัยภายใน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพทีมงาน 3 วัย โดยให้โอกาสน้องๆเยาวชนนักรณรงค์รุ่นใหม่ได้มาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนมากขึ้น การสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้พื้นที่ระดับอำเภอเป็นตัวตั้ง การใช้ข้อมูลและการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับสภาพแวดล้อมให้ลดแรงจูงใจในการดื่มเหล้าเบียร์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งในด้านการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และการชวน ช่วย เชียร์นักดื่มหน้าเก่า โดยเครือข่ายงดเหล้าขอเป็นหนึ่งพลังในการปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ที่ผ่านการรับรองจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวเน้นการควบคุมการตลาดของภาคธุรกิจ การลดโอกาสการเข้าถึงของเด็กเยาวชน การเพิ่มภาษีเพิ่มราคาให้เทียบเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ การปรับเปลี่ยนค่านิยมในสังคมที่เน้นความปลอดภัยโดยลดความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ในงานหรือพื้นที่สาธารณะ ที่ผ่านมาเครือข่ายงดเหล้า ได้ทำให้เกิดมิติใหม่ของการจัดงานประเพณีเทศกาลที่ปลอดเหล้าปลอดภัย เช่น งานสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นงานใหญ่10วัน10คืน ซึ่งมีการขายการดื่มแอลกอฮอล์เกิดความเสี่ยงปัญหาต่างๆ จนเมื่อมีความร่วมมือรณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยการผลักดันของประชาคมงดเหล้าจังหวัดนครศรีธรรมราชทำให้เกิดเป็นต้นแบบงานประเพณีที่ปลอดภัยของจังหวัด เช่นเดียวกับงานกาชาดทั่วประเทศ และงานประเพณีเทศกาลต่างๆ ทั้งนี้ หลังจากมาตรการผ่อนคลายการจัดงานประเพณีเทศกาลจากโควิด ตอนนี้ในพื้นที่จังหวัดต่างๆเริ่มมีการจัดงานแล้ว ทางเครือข่ายฯ จะเน้นย้ำให้เจ้าภาพผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งทางเครือข่ายมีความเป็นห่วงในช่วงเวลาจากนี้ไปจนออกพรรษา ฤดูการท่องเที่ยวปลายปีจะมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายจำนวนมาก จึงต้องขอร้องให้ผู้ประกอบการรายใหญ่พึงเห็นแก่ส่วนรวม รับผิดชอบต่อสังคมและเคารพกฎหมายอย่างจริงจัง