นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ คว้าแชมป์ประกวด AIC INNO 2022

นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 1 เวทีการประกวดโครงการ AIC INNO 2022 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมทางการเงิน

เมื่อเร็วๆนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้าร่วมการประกวดโครงการ AIC INNO 2022 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีทีมนักศึกษากว่า 30 ทีม จาก 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ส่งนวัตกรรมเข้าร่วม

ผลปรากฏว่า ทีม Nicasio นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ เจ้าของผลงาน “Rich ตัวช่วยบริหารเงินสำหรับคน Gen ใหม่” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้สำเร็จ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท โล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร สมาชิกภายในทีมประกอบด้วย นายกษิดิศ บุญชัย ,นายธนวัฒน์ ศรีวิไล ,นายปณชัช เอี่ยมน้ำ, นายพงษ์นภัส ชูช่วย และนายรัชชานนท์ ชูเกียรติเถกิง มีอาจารย์จงสุข คงเสน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นายธนวัฒน์ ศรีวิไล ในฐานะหัวหน้าทีม Nicasio กล่าวว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นถือเป็นก้าวแรกที่ดีในการประกวดเวทีใหญ่ โดย “Rich ตัวช่วยบริหารเงินสำหรับคน Gen ใหม่” เป็นแอปพลิเคชันตัวช่วยในการบริหารจัดการเงินให้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลาขึ้น มีฟังก์ชันงานที่แตกต่างจากแอปที่มีอยู่ทั่วไป ตรงที่มีฟังก์ชันช่วยในเรื่องการออมเงิน สามารถสร้างกระเป๋าเงินออมได้ มีการรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับทุนการศึกษาหรือการทำงานพาร์ตไทม์ ที่สำคัญยังทำหน้าที่คอยแนะนำการใช้จ่ายเหมือนเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเงินของเราได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตทีมจะพัฒนารูปแบบและพัฒนาตัวAI ให้มีความสามารถมากขึ้นต่อไป

“เราได้ทำการสำรวจข้อมูลจากนักศึกษาจำนวน 1,000 คน พบว่ามีถึง 600 คนที่สนใจเรื่องการจัดการการเงิน และกว่า 330 คนที่ทำงานหารายได้พิเศษระหว่างเรียน ซึ่ง Rich ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ของคน Gen ใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนหรือนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ ทั้งนี้ขอขอบคุณอาจารย์ในหลักสูตรที่ให้คำแนะนำและเพื่อนๆทุกคนที่ร่วมกันทำงานจนประสบความสำเร็จดังกล่าว” นายธนวัฒน์ กล่าว

นอกจากรางวัลชนะเลิศดังกล่าวแล้ว ยังมีทีม AIC05 นักศึกษาสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี : Halal Stock Scanning ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้วย ได้แก่ นายบาซีรีน สาม่าน หลักสูตรคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ,นายมูฮัมหมัดฮารีส อาลี หลักสูตรโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ,นายฟาฮัด ตาเยะ คณะวิศวกรรมการบิน สถาบันการบินพลเรือน ,นายอูวิส หมัดอาดัม คณะวิศวกรรมวัสดุนาโน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และนายอับดุลมุห์ซิน เบ็นสลาม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี อาจารย์ฮุชเซ็น นิยมเดชา สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรและโล่รางวัล

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
www.wu.ac.th