ทีมนักวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ม.วลัยลักษณ์ ค้นพบกระบวนการ Pre-treatment เพื่อการอบไม้ปาล์มน้ำมันได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แตกและไม่ยุบตัว ช่วยแก้ปัญหาการอบไม้ปาล์มน้ำมันที่มีมานานในอุตสาหกรรมกว่า 20 ปี สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก พร้อมยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้วใน 3 ประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทย มีพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ในภาคใต้ซึ่งคิดเป็น 4% ของพื้นที่ปลูกทั่วโลก ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีต้นปาล์มน้ำมันอายุมากที่ต้องกำจัดทิ้ง ในปริมาณมากสูงถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าไม้แปรรูปอบแห้งเบื้องต้นประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเศษต้นปาล์มน้ำมันอีกจำนวนมากที่เหลือทิ้งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ด้วยวิธีการแปรรูปอบแห้งไม้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในโรงงานอุตสาหกรรม ไม้ปาล์มน้ำมันจะเกิดความเสียหายเนื่องจากการยุบตัวอย่างรุนแรงในระหว่างการอบ โดยมีสัดส่วนการแปรรูปแค่ 20-30% เท่านั้น อีกทั้งใช้ระยะเวลาและพลังงานการอบที่สูงทำให้ไม่คุ้มทุน
ตนพร้อมด้วยทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้ฯมวล. จึงได้ศึกษาวิธีการอบและการใช้ประโยชน์ไม้ปาล์มน้ำมันในรูปแบบใหม่แบบครบวงจร และได้ค้นพบกระบวนการ Pre-treatment ที่สามารถเปลี่ยนไม้ปาล์มน้ำมันซึ่งอบยากที่สุดในบรรดาไม้ทั้งหมดให้กลายเป็นไม้ที่อบได้ง่ายที่สุดได้ โดยที่คุณสมบัติต่างๆของไม้ไม่เสียไป ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สามารถแก้ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีลงได้ เทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับลำต้นไม้สายพันธุ์ปาล์มชนิดอื่นๆและสามารถผนวกเข้ากับกระบวนการผลิตไม้ยางพาราในโรงงานที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้วใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย พร้อมทั้งมีการขยายผล ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยให้กับบริษัท บุคคลผู้สนใจทั่วไป รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนภาครัฐ เพื่อให้นำไปขยายผลให้เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดของอุตสาหกรรมใหม่ จากเศษชีวมวลต้นปาล์มน้ำมันในวงกว้างต่อไป
“สำหรับกระบวนการ Pre-treatment ประกอบด้วยการอัดน้ำเข้าไปในไม้ปาล์มน้ำมัน ต่อด้วยการแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแตกขนาดเล็กในระดับ 1 ในล้านของเมตรในโครงสร้างไม้ปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ปาล์มน้ำมันสามารถอบได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกระบวนการอบที่รุนแรง สามารถอบไม้ที่มีความหนามากๆได้ สามารถทำกระบวนการ Heat-treatment ด้วยความร้อนตั้งแต่เริ่มต้นที่อุณหภูมิสูงมากถึง 200 องศาเซลเซียสได้” รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร กล่าว
“ขอขอบคุณโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัททิมเบอร์เอ็นจิเนียริ่งออฟกระบี่ และแผนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการขยะและของเสีย การลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ภายใต้การดำเนินการของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยสำหรับการค้นพบและพัฒนานวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมในครั้งนี้ โดยมีนักศึกษาผู้รับทุนในโครงการประกอบด้วย นายชูศักดิ์ ฤทธิเพ็ชร นางสาวพีระยา เศรษฐพงษ์ และนางสาวกมลวรรณ ดำยังและทีมอาจารย์ที่ปรึกษา สังกัดหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล.”รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ม.วลัยลักษณ์ โทร.075-673-671/075-672-304, Facebook: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ,
Email-wood@wu.ac.th