เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 12 ก.ย. 2565 ที่โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จ.นครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมนางอนุรี วิศิษฏ์วงศ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช นายกณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนคร นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.ต.สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช นายประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช และนางพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบและกาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำปี 2565 โดยมีนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง
นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และชาวปักษ์ใต้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะถูกปล่อยขึ้นมาจากนรกภูมิ ขึ้นมายังโลกมนุษย์เพื่อขอรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานร่วมกันทำบุญอุทิศไปให้ในช่วงเทศกาลเดือนสิบ และนำกลับไปไถ่ถอนบาปให้ลดน้อยลงหรือหมดไป จะได้มีโอกาสได้ไปผุดไปเกิดในภพใหม่ ซึ่งบรรพบุรุษที่ถูกปล่อยขึ้นมาจะมีลักษณะรูปร่างต่าง ๆ ตามกรรมที่เคยกระทำเมื่อครั้งมีชีวิตหรือเรียกว่า “เปรต” ซึ่งนรกภูมิจะปล่อยขึ้นมายังโลกมนุษย์ นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบรวมเวลา 15 ราตรี ประเพณี”สารทเดือนสิบ” ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือกันว่าเป็นประเพณีที่เป็นรูปแบบและศูนย์รวมการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดในรอบปี เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ในช่วงเทศกาลเดือนสิบชาวนครศรีธรรมราชจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตามจะต้องกลับมาบ้านเกิด เพื่อร่วมทำบุญให้กับบรรพบุรุษ บรรพชน ซึ่งเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ได้กระทำกรรมชั่วหรือสร้างบาปกรรมเอาไว้และแม้จะล่วงลับและกลายเป็น “เปรต”ไปแล้วก็ตามโดยเมื่อเสียชีวิตต้องไปเป็นเปรตอยู่ในนรกภูมิถูกลงโทษทัณฑ์ในลักษณะต่าง ๆ ตามบาปกรรมที่ได้กระทำเอาไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส
“การจัดงานเทศกาลบุญสารทเดือนสิบในปีนี้เป็นไปตามสโลแกนที่ว่า ” 99 ปี มหานครแห่งศาสตร์ ศิลป์ และศรัทธา กตัญุตาต่อบรรพชน อนุรักษ์สืบสาน เสน่ห์วันวานสู่อนุชนรุ่นหลัง” ซึ่งในอดีตนครศรีธรรมราช มีความเจริญในทุก ๆ ด้านเป็นดินแดนศูนย์กลางพุทธศาสนา ซึ่งตามคติความเชื่อว่าปู่ ย่า ตายาย หรือบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปก็จะตกนรกภูมิชดใช้กรรมชั่วที่ทำไว้เมื่อครั้งมีชีวิต ซึ่งก็คือ “เปรต” ที่มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ตามกรรมที่ก่อไว้ในสมัยยังมีชีวิตและถูกปล่อยมาจากนรกภูมินั้นเอง ดังนั้น “เปรต” จึงเป็นหัวใจหลักและเป็นที่มาของการทำบุญในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบอย่างแท้จริง”
“การทำบุญเดือนสิบคือลูกหลานญาติพี่น้องจะร่วมกันจัดสำรับข้าวของต่าง ๆ ไปทำบุญที่วัดเรียกว่า “จัดหฺมฺรับ” (สำรับ) โดยหัวใจที่สำคัญที่สุดของจัดหฺมฺรับ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือขนม 5 อย่าง แต่ละอย่างล้วนมีความหมายในตัวเองและถือเป็นหัวใจของหฺมฺรับ ประกอบด้วย 1. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ 2.ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ 3.ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ 4. ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย 5. ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่นในงานเทศกาลสงกรานต์ (คนเฒ่าคนแก่บางท่านบอกว่าหัวใจของหฺมฺรับมี 6 อย่าง) โดยขนมอย่างที่ 6 คือ ขนมลาลอยมัน ใช้แทนฟูกหมอน รวมอยู่ด้วย”
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในงานเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ในวันเปิดงาน 19 ก.ย. 2565 จะมีการแสดงแสงสีเสียง” 99 ปี มหานครแห่งศาสตร์ ศิลป์ และศรัทธา กตัญุตาต่อบรรพชน อนุรักษ์สืบสาน เสน่ห์วันวานสู่อนุชนรุ่นหลัง” อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ณ.เวทีกลางสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 “ทุ่งท่าลาด” และในวันที่ 20 ก.ย. 2565 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดประธานเปิดกิจกรรมในส่วนของ “ลานวัฒนธรรม” ณ.สนามหน้าเมือง -สวนศรีธรรมโศกราช จ.นครศรีธรรมราช ส่วนในวันที่ 24 ก.ย.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดขบวนแห่หฺมฺรับ จากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และอาจจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองท่านอื่น ๆ เดินทางมาร่วมกิจกรรมในส่วนต่าง ๆ อีกหลายท่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ของงานบุญสารทเดือนสิบคือ “หุ่นเปรต” ซึ่งจะจัดแสดงที่สนามหน้าเมืองและสวนศรีธรรมโศกราช มีขบวนแห่เปรต-พาเหรดเปรต ในเวลา 15.30 น.วันที่ 23 ก.ย. 2565 จากวิหารหลวงงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ไปยังสนามหน้าเมืองและสวนศรีธรรมโศก โดยมีการจัดนิทรรศการหุ่นเปรตไว้ตลอดการจัดงานระหว่างวันที่ 19-28 ก.ย. 2565 พร้อมการแสดงมหรสพพื้นบ้าน หนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก รำวงเวียนครก การสาธิตและจำหน่ายขนมพื้นบาน อาหารพื้นเมือง สินค้าโอท็อป และสินค้าจากชุมชนจำนวนมาก.