จัดขึ้นแล้วอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่นระดับประเทศ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2565 เพื่อเพิ่มโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทาง การศึกษา ให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม


เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่นระดับประเทศ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด All for Education การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา ณ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน – ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีเปิด นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนคณะอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษา ที่ร่วมทำการแข่งขัน ให้การต้อนรับ

สำหรับงานในครั้งนี้จัดขึ้น เพราะได้เล็งเห็นว่า การพัฒนาคนให้โอกาศทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงมหาดไทย จึงให้นโยบายด้านการพัฒนาคนเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยคุณภาพ และการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและประชาชน
โดยภายในงาน มีการแข่งขันทักษะวิชาการระดับประเทศ ทั้ง การกล่าวสุนทรพจน์ (ไทย จีน อังกฤษ) การประกวดแข่งขันโครงงาน (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ฯลฯ) การประกวดสื่อนวัตกรรมทางการศึกษา การแข่งขันหุ่นยนต์ การแข่งขันทักษะคอมพิวเตอร์ และอีกหลากหลายกิจกรรม ที่ได้มาร่วมพิสูจน์ความสามารถของเยาวชนไทย ซึ่งมีสถานศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 251 แห่ง แบ่งการแข่งขันทั้งหมดเป็น 21 ประเภท โดยแบ่งตามลำดับชั้นการศึกษาทั้งระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา


ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้เป็นหลักในการบริหาร และการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น โดยส่งเสริมการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานศึกษาในสังกัด ที่ผ่านการประเมินโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น สถานศึกษาพอเพียง และศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น ให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่สาระการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยมีรูปแบบการติดตาม ประเมินผลเชิงประจักษ์