แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 4 แถลงความคืบหน้าการรักษาอาการเจ็บป่วยจากการฝึกของ นศท. ในพื้นที่ จ.นราธิวาส

วันนี้ (5 ธ.ค.65) ที่โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พลตรีนายแพทย์ โชคชัย ขวัญพิชิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ/แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่ 4 ได้รับมอบหมายจาก พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงข่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของนักศึกษาวิชาทหาร สังกัด หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 46 จากกรณีที่ได้รับการฝึกและมีสภาวะกล้ามเนื้อสลายและมีสภาวะแทรกซ้อนไตวาย จำนวน 23 นาย ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งขณะนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ความคืบหน้าการรักษาอาการเจ็บป่วย โดยแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรกรรมโรคไต สรุปดังนี้

1.จำแนกผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม หลัก ๆ คือ กลุ่มที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อระยะแรกซึ่งยังไม่มีปัญหาปัสสาวะออกน้อยลง มีจำนวนประมาณ 15 คน กับกลุ่มที่มีปัญหาปัสสาวะออกน้อยลง มีจำนวนประมาณ 8 คน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม จะมีปัสสาวะสีเข้มเช่นเดียวกัน
2.การวินิจฉัยของสภาวะนี้ คือสภาวะกล้ามเนื้อสลาย ทำให้สารกล้ามเนื้อที่สลายจำนวนมากอุดตันที่ท่อไต ทำให้เลือดหล่อเลี้ยงหน่วยไตลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทำงานของไตน้อยลง และไตขับของเสียได้ลดน้อยลง หรือที่เรียกว่า ไตวายเฉียบพลัน
3.การรักษามีลำดับขั้น ดังนี้คือ การให้สารน้ำ-เกลือแร่ทางเส้นเลือดเพื่อลดความเข้มข้นของสารกล้ามเนื้อ และช่วยขับออกทางปัสสาวะขณะเลือดผ่านหน่วยกรองของไต หากปัสสาวะเริ่มออกลดน้อยลงแสดงว่าหน่วยกรองของไตมีการอุดตันและอักเสบจากสารกล้ามเนื้อที่สลาย ความสามารถการกรองจึงลดน้อยลง กรณีนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแสดงของการมีของเสียคั่งค้างในร่างกาย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย การรักษาที่จำเป็นคือการนำของเสียออกจากร่างกาย หรือที่เรียกว่า ล้างไต ซึ่งเครื่องมือล้างไตในปัจจุบัน ที่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์มีความทันสมัย และมีแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมโรคไต นายแพทย์ ฟาฎิล อะหะหมัด สาและอารง จึงสามารถให้การรักษาได้อย่างทันเวลา ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยรายใดมีสภาวะของเสียคั่งค้างจนเป็นผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆของร่างกาย การรักษาพยาบาลจะเน้นการติดตามควบคุมจำนวนน้ำเข้า-ออก ไม่ให้มีสภาวะน้ำของเสียคั่งค้างในร่างกาย เมื่อได้ให้การรักษาตามข้างต้น หน่วยไตที่มีการอักเสบจะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
4.ขณะนี้ ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นตามลำดับ รับประทานอาหารได้เป็นปกติ

5.การพยากรณ์โรค ตามสถิติทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อสลาย ที่มีสาเหตุจากการออกกำลังกายอย่างเดียว ไม่ได้มีสาเหตุจากสภาวะลมร้อน Heat stroke ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยจะกลับสู่สภาวะปกติได้เป็นอย่างดี
6.การป้องกันสภาวะไตวายจากโรคกล้ามเนื้อสลาย ได้แก่ เมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมกับอาการอ่อนเพลีย แสดงว่าอาจเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของสภาวะกล้ามเนื้อสลายจำนวนมาก ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ การสังเกตุสีปัสสาวะหากสีปัสสาวะเข้มจัด ให้รีบดื่มน้ำบริสุทธิ์จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ลิตร และ สังเกตุการปัสสาวะซ้ำใน 1 ชั่วโมง หากยังมีสีเข้มอยู่ให้ดื่มเพิ่มเติม และเก็บปัสสาวะอีกภายใน 1 ชั่วโมง หากมีปัสสาวะออกไปทางสีน้ำตาล หรือ ปัสสาวะออกน้อยลง ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที การให้ประวัติกับแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่มีการใช้กล้ามเนื้อที่ไม่คุ้นเคย มีผลต่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว และให้งดเว้นการใช้ยารับประทานแก้ปวดกล้ามเนื้อ ทุกกรณี
สรุปความคืบหน้าในการรักษา จำนวน 23 นาย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว จำนวน 2 นาย คงเหลือรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 21 นาย (โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 18 นาย และโรงพยาบาลรือเสาะ 3 นาย) ทั้งนี้ พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการให้ดูแลรักษานักศึกษาวิชาทหารทั้งหมดอย่างดีที่สุด และให้ติดตามความคืบหน้าในการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดต่อไป.