“ พิพัฒน์ ” รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าขนอม – ลงเรือร่วม ศรชล. ภาค 2 ดูแลแรงงานประมงให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันค้ามนุษย์

“ พิพัฒน์ ” รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าขนอม – ลงเรือร่วม ศรชล. ภาค 2 ดูแลแรงงานประมงให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันค้ามนุษย์

วันนี้(8 ก.พ.67) ที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าขนอม โดยมีนายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายณเรศ ชูเกิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ,นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเยี่ยมสถานประกอบกิจการ และติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน เนื่องจากนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในภาคใต้ และมีพื้นที่มากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ มีสถานประกอบกิจการภายใต้การกำกับดูแล จำนวน 6,475 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 70,111 คน โดยเฉพาะอำเภอขนอม เป็นอำเภอที่มีจำนวนสถานประกอบกิจการมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัด มีประเภทกิจการที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประมงทะเล ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนายจ้าง แรงงาน และผู้เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามหลักสากล มีความปลอดภัยในการทำงาน และมีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด หรือโรงไฟฟ้าขนอมได้นำโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาดำเนินการเพื่อให้ลูกจ้างนำผลผลิตมาบริโภค ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และสามารถพัฒนานำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ และแจกจ่ายให้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด และผู้สูงอายุ บริเวณรอบโรงไฟฟ้า รวมถึงการให้โอกาสลูกจ้างทุกสัญชาติ และลูกจ้างกลุ่มพิเศษได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากสวัสดิการที่จัดให้อย่างเท่าเทียมกัน
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ ร่วมกับ ศรชล. ภาค 2 ออกตรวจบูรณาการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเลร่วมกับชุดสหวิชาชีพตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเรือประมงทะเล เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามหลักสากล

รมว.พิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ผื่อข่าวว่า วันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และชุดสหวิชาชีพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจบูรณาการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ขณะทำการประมง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม มียารักษาโรค อาหาร น้ำ เครื่องอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทน ที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือนายจ้าง เจ้าของเรือ แรงงานประมง ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางสังคม ความรู้สึกถึงงานที่มีคุณค่า การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเรือประมง 9,608 ลำ มีแรงงานประมงทะเล จำนวน 11,567 คน สัญชาติไทย 6,878 คน รองลงมา เป็นเมียนมา 3,857 คน กัมพูชา 672 คน ลาว 156 คน และอื่นๆ 4 คน

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจบูรณาการเรือประมงกลางทะเลในวันนี้ มีการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน บนเรือประมงจำนวน 1 ลำ ชื่อเรือ ล.สังข์วัฒนา 5 จากการตรวจสอบพบว่า มีลูกจ้างทำงานบนเรือประมงทั้งสิ้น 35 คน เป็นแรงงานไทย 24 คน เมียนมา 3 คน กัมพูชา 7 คน และสัญชาติอื่น อีก 1 คน นายจ้างมีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทั้งในเรื่องสภาพการจ้างการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่พบการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเรือประมงทะเล ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการตรวจบูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสภาพการจ้างการทำงาน และการป้องกันการค้ามนุษย์ในกิจการประมง รวมทั้งการสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งด้านสภาพการจ้างสภาพการ ทำงาน ความปลอดภัยในการทำงาน และการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด และร่วมกันในการขับเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศต่อไป