จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนครแห่งเดียวของประเทศ ระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2567
ค่ำวานนี้(27 มี.ค. 67) ที่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช อ.เมืองนครศรีธรรมราช นายสมพงษ์ มากมณี รองผวจ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายอนุสรณ์ พงษ์เกษมพรกุล รองนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช นายมนตรี มานะต่อ ผอ.ททท.สนง.นครศรีธรรมราช และนายประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้าจ.นครศรีธรรมราช ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยืนยันถึงความพร้อมการเตรียมจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร ประจำปี 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร 1 เดียวของประเทศ กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2567 ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช โดยภายในงานกำหนดให้มีกิจกรรมเพื่อเสริมสิริมงคล และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากมาย โดยในวันที่ 11 เมษายน 2567 จะมีพิธีถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช วันที่ 12 เมษายน 2567 พิธีพลีกรรมและพิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 6 แหล่ง และพิธีแทงหยวก วันที่ 13 เมษายน 2567 พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย ณ สนามหน้าเมือง พิธีอัญเชิญและขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากหอพระสิหิงค์ ไปตามถนนราชดำเนิน สู่ปะรำพิธี ณ สนามหน้าเมือง พิธีสมโภชพระพุทธสิหิงค์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ และเล่นน้ำสงกรานต์ ณ สนามหน้าเมือง และในวันที่ 14 เมษายน 2567 มีพิธีเปิดฟ้า เปิดดิน เปิดขบวนแห่นางดาน อลังการเมืองนคร ณ หอพระอิศวร ขบวนแห่แห่นางดาน อลังการเมืองนคร จากหอพระอิศวร มุ่งสู่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และการแสดงแสง สี เสียง ชุด มหากาพย์แห่งศรัทธาและจิตวิญญาณ นางดาน อลังการเมืองนคร THE ONLY IN THAILAND
พิธีแห่นางดานเป็นประเพณีที่เก่าแก่และมีเพียงแห่งเดียวของประเทศ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช หรือเมื่อราว พ.ศ. 1200 ทั้งเพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ โดยนางดานหรือนางกระดาน เป็นแผ่นไม้กระดานที่มีขนาดความกว้างหนึ่งศอก และสูงสี่ศอก แกะสลักเป็นรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ คือ แผ่นแรกคือรูปพระอาทิตย์ และพระจันทร์, แผ่นที่สองรูปพระแม่ธรณี และแผ่นที่สามคือรูปพระนางคงคา โดยทั้ง 3 แผ่น จะนำมาร่วมในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า ซึ่งเชื่อกันว่าการเสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุข ให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย ซึ่งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวรจะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดู ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี โดยมีจุดเด่นของงานเป็นริ้วขบวนแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย.