มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกับชุมชนวัดธาราวดี เปิดศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมต้นจาก โครงการพัฒนาคุณภาพ ชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมภูมิปัญญา และประเพณี ท้องถิ่น ตําบลบางจาก อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันนี้ (27 ก.ค.67) ณ วัดธาราวดี ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช นายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ให้เกียรติเป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้ผ้ามัดย้อมต้นจาก ศูนย์การเรียนรู้บนฐานทรัพยากรชุมชน เรื่องเล่า และภูมิปัญญาตำบลบางจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกิจกรรมตักบาตรทางน้ำ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา โครงการพัฒนาคุณภาพ ชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมภูมิปัญญา และประเพณี ท้องถิ่น และกิจกรรมเรื่องเล่า และภูมิปัญญา ต่อยอดยกกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบล แบบบูรณาการ มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนากลุ่มอาชีพ สร้างการรับรู้และเข้าใจผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตำบลบางจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงศ์พันธ์ ใจห้าววีระพงศ์ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาท้องถิ่น สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกับผู้ช่วยศาสตาจารย์เมธาวัตร ภูธรภักดี หัวหน้าโครงการ และคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับประธาน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จิตอาสาพระราชทาน ตลอดจนพี่น้องประชาชน และแขกผู้มีเกียรติ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมภูมิปัญญาและประเพณี ท้องถิ่น ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์สืบสานงานพระราชดำริ และการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโอกาสอันดี ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาท้องถิ่น เพิ่มและยกศักยภาพการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนให้เกิดองค์ความรู้ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยยังคงรักษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามไว้ ตลอดจนสามารถนำทรัพยากรในท้องถิ่นสร้างเป็นอาชีพก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นทางด้านการพัฒนานักศึกษาเพื่อออกสู่สังคม และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมและชุมชน ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนทักษะทางด้านผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับงานบริการวิชาการสู่ท้องถิ่น รวมถึงการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความต้องการของสังคมและตลาดในปัจจุบันและอนาคตภายใต้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและต่อยอดสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืนและมั่นคงสืบต่อไป
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยผู้นำชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในตำบลบางจาก และสมาชิกชุมชน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุดทอนหงส์ และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่มังคุด ตำบลโมกคลาน อำเภอท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรชาววัง อำเภอทุ่งสง วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านลุ่มเตย อำเภอลานสกา และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะพร้าวสกัดเย็นสมุนไพรบ้านสวนกุลจิรา อำเภอเชียรใหญ่ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่ นำองค์ความรู้พัฒนาเชิงพื้นที่ยกระดับคุณภาพชีวิต ประเมินผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานความสุขมวลรวม (GVH) ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ชุมชนตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีทรัพยากรที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ สิ่งของและทรัพยากรบุคคล ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญโดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งยังคงต้องการการดูแลทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมขึ้นมา ยังคงต้องอาศัยการดูแลและทำความเข้าใจในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ชุมชนตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้เสมือนการตีเหล็กที่กำลังร้อน เป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาท้องถิ่นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับวิถีชีวิตชุมชน ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ หากขาดช่วงนี้ไปแล้ว ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ สาธารณะสุข สังคม ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยวที่กำลังโต อาจเกิดการชะงัก ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งรวมองค์คความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับชุมชน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ตามหลัก บวร เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีโครงสร้างทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรม อันจะส่งผลต่อการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน โดยชุมชน ด้วยชุมชนอย่างแท้จริง และยั่งยืนสืบต่อไป.