คึกคัก ! ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำทัพผู้ประกอบการท่องเที่ยวจาก โขง ชี มูล เชื่อมโยงกิจกรรมเสนอขายท่องเที่ยวสู่นครศรีธรรมราช – สงขลา กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายของปี 2567
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยความร่วมมือระหว่าง ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำทัพ Seller ภาคอีสาน จำนวน 54 คน 41 หน่วยงาน โดย นายอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภูมิภาคภาคใต้ โดยนางวัจนันท์ ศิลปวรณ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ กำหนดจัดกิจกรรม Road Show ส่งเสริมการขายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ภายใต้กิจกรรม “จากโขง ชี มูล สู่…หรอยแรงแหล่งใต้” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค อันจะนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ด้วยการเสนอขายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ควบคู่กับโปรโมชั่นสุดพิเศษ ในระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดสงขลา โดยมีในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกำหนดจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการขายพบปะเจรจาธุรกิจในรูปแบบ Table Top Sale ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงานและร่วมต้อนรับร่วมร้อยคนในฐานะ เจ้าบ้านที่ดีอย่างอบอุ่น โดยมี นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานกล่าวต้อนรับ
นายมนตรี มานะต่อ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการขยายตลาดท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองที่มีศักยภาพเชื่อมโยงข้ามภูมิภาค โดยนครศรีธรรมราชมีสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวหลากหลายอันเป็นที่ต้องการของกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวจากภาคอีสานซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่าย โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชถูกเลือกให้เป็นพื้นที่หนึ่งในการจัดกิจกรรมพบปะเจรจาทางธุรกิจ Table Top Sale ระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยว บริษัททัวร์ ที่พัก ร้านอาหาร และหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ นับว่านครศรีธรรมราชมีจุดแข็งด้านทรัพยากรท่องเที่ยวหลากหลายและมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ รวมถึงมีศักยภาพโดดเด่นและมีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาและศาสนาและวัฒนธรรม มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งน้ำตก ทะเลหมอก หาดทราย ชายทะเล อาหารถิ่น อาหารทะเล สินค้าของที่ระลึก งานหัตถศิลป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคภาค มีความคุ้มค่าในด้านการใช้จ่ายทั้งเรื่องที่พัก อาหาร ตลอดจนมีกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายเหมาะแก่การเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการนำเที่ยวจากภาคอีสานผู้ประกอบการภาคใต้
นอกจากนี้นครศรีธรรมราชยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับเมืองหลักที่มีสายการบินข้ามภูมิภาค อาทิ ภูเก็ต หาดใหญ่ ที่ให้บริการเส้นทางขอนแก่น และอุดรธานี โดยมีระยะเวลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา) และฝั่งอ่าวไทยตอนบน (สุราษฎร์ธานี – เกาะสมุย) และอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา-หาดใหญ่) ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะเติบโตด้านการท่องเที่ยวในมิติของโครงข่ายด้านการคมนาคมที่ทันสมัยและเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลัก อาทิ สนามบินนานาชาตินครศรีธรรมราชมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว 600 คน/ชั่วโมง และกำลังจะมีเที่ยวบินข้ามภูมิภาคและเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยมีสิ่งก่อสร้างและรบบในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยท่าอากาศยานได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างและระบบการทำงานของสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อีกทั้งในอนาคตอันใกล้ยังมีโครงการทางพิเศษสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) – ขนอม (นครศรีธรรมราช) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2571 และเปิดบริการในปี 2575 ซึ่งจะเป็นโอกาสก่อให้เกิดการกระจายตัวจากแหล่งท่องเที่ยวหลักสู่แหล่งท่องเที่ยวรองและในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ผู้อำนวยการกล่าวในตอนท้ายว่า ททท. คาดหวังว่าการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย Road Showข้ามภูมิภาค “จากโขงชีมูลสู่…หรอยแรงแหล่งใต้” ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งสองภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนซื้อ – ขายและพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเพื่อให้สอดรับกับกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ เกิดการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนแนวคิดในการส่งเสริมธุรกิจทางการท่องเที่ยว สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น อันส่งผลให้เกิดอัตราการเติบโตและสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นของไตรมาสสุดท้ายแห่งปี 2567 ตลอดจนต่อยอดผลักดันให้เกิดการบูรณาการด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภูมิภาคภาคอีสาน – ภาคใต้ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำพาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต