มิตซูบิชิ ญี่ปุ่น เอ็มโอยู ม.วลัยลักษณ์ หนุนโครงการ CSR ท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ที่ จ.กระบี่

มิตซูบิชิ ญี่ปุ่น เอ็มโอยู ม.วลัยลักษณ์ หนุนโครงการ CSR ท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ที่ จ.กระบี่

Mitsubishi Corporation ญี่ปุ่น ร่วมกับ สำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ลงนามเอ็มโอยูจัดโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในจังหวัดกระบี่ พร้อมมอบเงินสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชาการจัดการ พร้อมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับผู้บริหารระดับสูง Mitsubishi Corporation นำโดย MR. Hiroyasu Sato ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในการเดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างเป็นทางการ พร้อมลงนามความร่วมมือโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) และมอบเงินสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ Mitsubishi Corporation ว่า Mitsubishi Corporation ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจากงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานภาคธุรกิจที่ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย

นอกจากนี้ Mitsubishi Corporation ยังได้มอบเงินสนับสนุนให้แก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านการวิจัย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่ โดยสำนักวิชาการจัดการเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในจังหวัดกระบี่ ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม และ Workshop โดยผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนส่ง โรงแรม บริษัททัวร์ และร้านอาหาร รวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างประสบการณ์ระหว่างนักศึกษา นักวิชาการ และอาจารย์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลที่สำคัญจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวบอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในกระบี่และเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว