ม.วลัยลักษณ์แถลงข่าวเตรียมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ WRC 2025 เนื่องในโอกาสครบปีที่ 33 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกร่วมเป็นองค์ปาฐก มีนักวิชาการตอบรับเข้าร่วมแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

ม.วลัยลักษณ์แถลงข่าวเตรียมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ WRC 2025 เนื่องในโอกาสครบปีที่ 33 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกร่วมเป็นองค์ปาฐก มีนักวิชาการตอบรับเข้าร่วมแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

วันนี้ (17 มี.ค.68) ที่ห้องประชุมเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตพันธุ์ รองวงศ์ ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกัน          แถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “Walailak Research Convention 2025” หรือ WRC 2025) และ งาน Walailak Investor Day 2025 เนื่องในโอกาสครบปีที่ 33 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย        มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2568 นี้ ณ ม.วลัยลักษณ์ โดยนักวิชาการตอบรับเข้าร่วมแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มวล.มุ่งขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับประชาชน พร้อมยกระดับมาตรฐานของมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียงในระดับสากล ขณะนี้ มวล.ได้รับการจัดอันดับจากสถาบัน Times Higher Education (THE) Rankings 2025 ให้อยู่ในอันดับที่ 1201+ ของโลก อันดับ 6 ของประเทศ และติดอันดับ 501+ ของโลก Young University Rankings ส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในด้าน Impact Ranking สถาบัน THE จัดให้ มวล.อยู่ในอันดับที่ 101-200 ของโลกและในด้าน Stewardship อยู่ในอันดับ 3 ของโลก ส่วนด้าน Outreach อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก

“ม.วลัยลักษณ์ยังได้รับรางวัลดีเด่นด้านการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 จากกระทรวง อว. ตอกย้ำความพยายามอย่างจริงจังในการขับเคลื่อนงานวิจัยตลอด 7 ปีที่ผ่านมาและบ่งบอกว่าม.วลัยลักษณ์ประสบความสำเร็จค้นคว้าวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้วย”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว และเนื่องในโอกาสครบปีที่ 33 แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ WRC 2025  ขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยในด้านการวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนาด้านการศึกษา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “The Roles of Higher Education in Driving Sustainability and Blue Carbon” สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาในการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และนโยบาย  เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรบลูคาร์บอนที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตพันธุ์ รองวงศ์ กล่าวว่า การประชุมWRC จัดมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับ นักวิจัย คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ ที่จะนำเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้และเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ สร้างเครือข่ายงานวิจัยในระดับชาติและระดับนานาชาติ ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4         ในรูปแบบไฮบริด รองรับผู้เข้าร่วมได้กว่า 1,000 คน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจาก 20 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, อินเดีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, จีน, นิวซีแลนด์, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, ตุรกี, บังกลาเทศ, เกาหลีใต้, บรูไน และไทยเข้าร่วม ไฮไลท์ของงานในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ดร.สุรชัย สถิตกุลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “The Role of Higher Education in Sustainability & Blue Carbon” และยังมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Higher Education and Global Sustainability” Panelist โดย ศาสตราจารย์ ดร.ยู จอห์นสัน อะเลงการัม จากมหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ศาสตราจารย์ ดร.วิกัส คูมาร์ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี้ ประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์ ดร.อิคุโอะ ฮิโรโนะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และ รองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย “บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อนความยั่งยืนและบลูคาร์บอน มีความสำคัญอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บลูคาร์บอน (Blue Carbon) ซึ่งหมายถึงคาร์บอนที่ถูกกักเก็บในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล และป่าชายหาด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การวิจัยและพัฒนาด้านบลูคาร์บอนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการ Reinventing University ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยไทยสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการและความร่วมมือวิจัยระดับนานาชาติ โดยเน้นระบบนิเวศคาร์บอนสีน้ำเงิน
”รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าวยังมีงาน Walailak Investor Day 2025 มหกรรมแสดงงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักวิจัย ได้พบปะและร่วมมือกัน ขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์และเชื่อมโยงงานวิจัยกับอุตสาหกรรมและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุน สตาร์ทอัพ และภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 075 673563 เว็บไซต์ https://wrc.wu.ac.th/2025/ เพจเฟซบุ๊ก : สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ