ในระยะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนขยะเฉลี่ยถึงปีละ 20 กว่าล้านตัน แต่กลับมีจำนวนขยะที่ถูกนำกลับไปใช้และกำจัดอย่างถูกต้องไม่เท่ากับจำนวนทั้งหมด จนกลายเป็นปัญหาขยะตกค้างและผลกระทบในหลาย ๆ ด้านทั้งสิ่งแวดล้อม คน และสัตว์ ตามมาเป็นห่วงโซ่ ซึ่งแหล่งกำเนิดขยะและแหล่งที่ขยะตกค้างอยู่ส่วนใหญ่ก็คือมาจากบ้านเรือนและชุมชน ฉะนั้นตอนนี้หลาย ๆ แห่งจึงเริ่มตระหนักและลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยตัวเองกันมากขึ้น เพื่อช่วยให้ชุมชนกลับมาสะอาดและน่าอยู่อีกครั้ง ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ไปในตัว
“ขยะ” เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย เพราะจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษมีการรายงานว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในปี 2561 มีจำนวนมากถึง 27.93 ล้านตัน หรือประมาณ 76,529 ตันต่อวัน นับว่าเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ที่มีจำนวน 27.37 ล้านตันอยู่พอสมควร ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น มีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น มีการขยับขยายชุมชนเพิ่มขึ้น มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพิ่มขึ้น และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จนทำให้ตลอดปีที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยโดยเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ชุมชนที่มีการจัดการขยะมูลฝอยได้เป็นอย่างดีก็คือ เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากที่มี “โครงการพลิกถุงพลิกโลก” มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตอนแรกก็เริ่มจากองค์กรและโรงเรียนในสังกัดเทศบาล จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายไปสู่หมู่บ้านและชุมชนเรื่อย ๆ โดยทางโครงการมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำจัดขยะและลดขยะที่ต้นทางอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะ การนำไปเก็บที่ธนาคารขยะ การขายขยะเพื่อสร้างรายได้ ด้วยหลัก 3R (Reduce Reuse Recycle) รวมถึงมีกิจกรรมให้ทุกคนลงมือทำจริง อาทิ สอนวิธีการนำวัสดุทดแทนจากธรรมชาติมาใช้แทนพลาสติก เช่น ภาชนะจากกาบหมาก ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะสามารถทำให้เทศบาลเมืองทุ่งสงมีปริมาณขยะลดลงจากเดิม 50 ตันต่อวัน เหลือเพียง 20 ตันต่อวัน นอกจากนี้ยังช่วยให้ประชาชนมีรายได้เสริม ทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาด น่าอยู่ ถูกสุขอนามัย แถมช่วยลดการใช้โฟมและพลาสติกไปในตัวอีกด้วย