มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการของไม้ยางพาราและไม้เศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ใช้งานในอุตสาหกรรมไม้ทั้งภาครัฐและเอกชน
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มวล. เปิดเผยในพิธีเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ และการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เทคโนโลยีและเครื่องมือเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจากไม้ยางพารา” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม ว่า “มวล.เห็นความสำคัญของการพัฒนาความรู้ทางวิชาการของไม้ยางพาราและไม้เศรษฐกิจอื่นๆ จึงได้จัดตั้งหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547 เพื่อดำเนินงานวิจัยเชิงลึกทางด้านวิชาการ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ไม้และวัสดุชีวภาพ ภายใต้พันธกิจของศูนย์ฯ ที่เน้น 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1. การศึกษาวิชาการอย่างลึกซึ้ง (Frontier Research) 2. การพัฒนานวัตกรรมที่ล้ำหน้าเพื่อการใช้ประโยชน์ (Leading Innovations) 3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม (Societal Impacts) และเพื่อให้สอดรับกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันจึงได้ปรับชื่อเป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ”
ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆมากมาย อาทิ ระบบควบคุมการอบไม้อัตโนมัติ DryWooD ซึ่งขณะนี้มีการใช้งานจริงในอุตสาหกรรมจำนวน 4 บริษัท จำนวน 76 เตาอบ ระบบควบคุมความเข้มข้นของน้ำยาอัดไม้ซึ่งมีการติดตั้งให้กับกว่า 20 บริษัท นวัตกรรมปืนยางสำหรับช่วยฝึก ซึ่งมีการใช้งานจริงใน 7 หน่วยงานของภาครัฐ จำนวนกว่า 1,290 กระบอก รวมถึงนวัตกรรมที่กำลังจะออกสู่การใช้งาน เช่น เครื่องวัดความเค้นในไม้ StressWooD meter เครื่องวัดความชื้นไม้แบบเรียลไทม์ นวัตกรรมการอบไม้ปาล์มน้ำมันไม่ให้เกิดการยุบตัว นวัตกรรมไม้แชนวิชที่ใช้ไม้ปาล์มน้ำมันเป็นไส้ ผนังไม้ที่มีโฟมยางเป็นฉนวนความร้อน เป็นต้น ในด้านวิชาการเชิงลึกได้มีการพัฒนาเทศนิคการวัดความเค้นแบบใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำด้านไม้ในระดับนานาชาติ การพัฒนาเทคนิคการอบไม้ปาล์มน้ำมันแบบใหม่โดยที่ไม้ไม่ยุบตัว การผลิตไม้ประกอบที่มียางพาราและไม้ปาล์มเป็นไส้ การปรับปรุงโครงสร้างไม้ในระดับนาโนเมตรเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร กล่าวต่ออีกว่า “นอกจากนี้ศูนย์ฯยังผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพด้านไม้ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกรวมทั้งสิ้นกว่า 50 คน มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ วารสารในประเทศและงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติอีกกว่า 70 เรื่อง อีกทั้งยังมีความร่วมมือระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยด้านไม้ชั้นนำจากประเทศ เยอรมัน แคนาดา ออสเตรีย โรมาเนีย ฮังการี นิวซีแลนด์ และจีน และการตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแต่งตั้งเป็น “ผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม”จำนวน 6 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้งในส่วนของไม้แปรรูปและไม้ประกอบอีกด้วย และการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เทคโนโลยีและเครื่องมือเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจากไม้ยางพารา”ดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพและศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย มวล.และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานบูรณาการวิจัยมุ่งเป้า กลุ่มเรื่องยางพารา สำนักงานการวิจัยแห่ชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)”
โดยมีโครงการวิจัยจำนวน 6 โครงการ คือ 1. ระบบตรวจวัดความชื้นในไม้ยางพาราแปรรูปแบบเรียลไทม์แบบเข็มตอกโดยการวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ และคณะ 2. ระบบตรวจวัดความชื้นในไม้ยางพาราแปรรูปแบบเรียลไทม์แบบสัมผัสโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญวัฒน์ ลิมปิติ และคณะ 3. การพัฒนาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการคลายความเค้นในไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งที่มีความหนา 3 นิ้ว โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นิรันดร มาแทน และคณะ 4.นวัตกรรมลังไม้ยางพารารมไอน้ำมันหอมระเหยสำหรับผลิตลังใส่ผลไม้ที่สามารถชะลอและควบคุมการสุก โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นฤมล มาแทน และคณะ 5. การผลิตไม้ยางพาราแปรรูปคุณภาพสูง ด้วยกระบวนการฝังอัดพอลิเมอร์ในเนื้อไม้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤกษ์ คงทอง และคณะ และ6. การผลิตไม้ยางพาราแปรรูปคุณภาพสูงด้วยกระบวนการ Cross Laminating โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุธน ศรีวะโร และคณะ