ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติผ่อนคลายมาตรการให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเปิดเรียนในวันที่ 21 มกราคมนี้ ส่วนอื่น ๆ ยังคงมาตรการเข้มเช่นเดิม
วันนี้(20 ม.ค.64) เวลา 13.30 น. นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคณะกรรมการโรคติดต่อ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิงเข้าร่วมประชุมด้วย
โดยที่ประชุมได้มีการรับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งข้อเสนอการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาได้การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตามคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ 11/2564 ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ผ่อนคลายเฉพาะการเปิดโรงเรียน สถานศึกษาที่มีความพร้อมในวันที่ 21 มกราคม 2564 แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่กระทรวงศึกษากำหนด หากเปิดแล้วสถานศึกษาใดไม่มีความพร้อมก็ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาตามอำนาจหน้าที่ในการสั่งปิด ส่วนมาตรการการจัดประชุม อบรม สัมมนาในโรงแรม รีสอร์ต หรือสถานที่จัดเลี้ยง ให้คงมาตรการเดิมต่อไป แต่ถ้ามีการจัดอบรม ประชุม สัมมนาที่มีผู้เข้าร่วมงานเกิน 100 คน ให้อำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เช่นเดียวกับการจัดงานประเพณีในที่สาธารณะ สถานที่เอกชนยังคงห้ามจัด รวมทั้งสถานบริการสถานบันเทิง(ผับ บาร์ คาราโอเกะ) ร้านเกมส์ ร้านอินเตอร์เน็ต ฟิตเนส สนามชนโค ชนไก่สนามมวย กัดปลา ยังคงปิดต่อไป
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการต้องดูทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน และการเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอกด้วย ดูผลกระทบในภาพรวมของจังหวัด โดยที่ประชุมได้มีมติให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเปิดเรียนได้ในวันที่ 21 มกราคม 2564 โรงเรียนใดที่ยังไม่พร้อมก็ไม่ต้องเปิดให้อยู่ที่ดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนอื่น ๆ ก็ยังคงมาตรการไว้เช่นเดิม เนื่องจากยังกังวลว่าหากมีกิจกรรมที่มีการสัมผัสมากขึ้นก็เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ อย่างเช่นสถานบริการสถานบันเทิง ได้ให้คณะกรรมการลงไปดูข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถผ่อนคลายได้อย่างไรบ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ซึ่งก็มีความเห็นใจผู้ประกอบการทุกคนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ที่ประชุมให้มีการปรับย้ายการตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดจากอำเภอจุฬาภรณ์ ไปตั้งในพื้นที่อำเภอชะอวด และจากอำเภอสิชลไปพื้นที่อำเภอขนอม อีกทั้งที่ประชุมให้สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ลงไปดูแลผู้ปฏิบัติงานชาวต่างชาติและบุคคลนอกพื้นที่เข้าปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าขนอมกว่า 400 คน เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ฝ่ายปกครอง ตำรวจและสาธารณสุขลงไปดูแลร้านน้ำชาด้วยเนื่องจากได้รับข้อมูลว่า ไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม..