วันนี้(24 มี.ค. 64) ที่บริเวณลานตะเคียน ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช (ฝั่งถนนราชดำเนิน) นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางมารับเอกสารซึ่งตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้ายื่นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้มีการเร่งจับกุมตัวผู้กระทำผิด และจัดการการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง
โดยตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการตามแนวพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และ พ.ศ.2560 โดยได้ทำแผนปฏิบัติการ “ปากพนังโมเดล” เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง การแย่งชิงพื้นที่ทำการประมง การใช้เครื่องมือที่กระทบกับสัตว์น้ำวัยอ่อน และการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ขัดกับที่กฎหมายกำหนด เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรในทะเลครอบคลุมพื้นที่ ๓ อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอท่าศาลา อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช และอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้าน ทั้ง 6 อำเภอ กว่า 47 กลุ่ม ที่ใช้เครื่องมืออย่างรับผิดชอบไม่กระทบกับระบบนิเวศ หน้าดิน และสัตว์น้ำขนาดเล็ก เครื่องมือที่ใช้ก็สอดคล้องตามฤดูกาล “อวน 1 ชนิด จบปลา 1 ชนิด” เป็นไปตามกฎหมายกำหนดทุกประการ โดยกลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่กระจายตัวอยู่ในทุกอำเภอ ได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ แนวเขตอนุรักษ์ บ้านปลา ธนาคารปูม้า/ ไข่หมึก ปลูกป่าชายเลน และศูนย์การเรียนรู้การจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทุกกลุ่มมีตัวตนอยู่จริงและมีกิจกรรมเชิงประจักษ์สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาควิชาการ ประชาชน เอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ภายใต้แผนปฏิบัติการ “ปากพนังโมเดล” ตามนโยบายของ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจำเริญ ทิพย์พงศ์ธาดา โดยมีผู้แทนทุกภาคส่วนเข้าร่วมปฏิบัติการนั้นมีชาวประมงสมัครใจเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ และส่งมอบเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายพร้อมรับเงินชดเชยหลายราย ทำให้ในขณะนั้นมีชาวประมงที่ยังใช้เครื่องมือผิดกฎหมายประเภท อวนรุน อวนลาก (ลากถุง/ลากลูกหิน) ลอบพับ(ไอ้โง่) และ คราดหอย ไม่ถึง 120 ลำ ในขณะที่บางรายได้รับเงินชดเชยเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องมือไปแล้ว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จับกุม รื้อถอน มาอย่างต่อเนื่อง
แต่ต่อมาทางเครือข่ายฯ เห็นว่า มีกลุ่มผู้มีอำนาจ และนายทุนพยายามช่วยเหลือกลุ่มชาวประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายและทำลายระบบนิเวศในอ่าวปากพนัง ทำให้เรือประมงทุกประเภทมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และขาดการยำเกรงกฎหมาย จนล่าสุดกับเหตุการณ์ที่มีเรือประมงพุ่งชนเรือตรวจการณ์ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ถึง 5 รายเมื่อคืนวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยทางเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช เห็นว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเลวร้าย หากไม่มีการจัดการที่ทันท่วงที และเป็นระบบ คาดว่าอาจจะก่อให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่และชาวประมง รวมถึงพื้นที่เพาะพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์น้ำอาจจะถูกทำลาย และเพื่อนำความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่อ่าวปากพนัง ที่ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ และที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้ อีกทั้ง เพื่อความสุขของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กร และจัดกิจกรรมอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ได้มีกำลังใจดำเนินการต่อก่อนจะส่งมอบให้กับลูกหลานได้สานต่อ และเพื่อความสุขของคนกินปลาทุกคนได้มีอาหารทะเลกินตลอดไป
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าขอขอบเครือข่ายฯ ที่มาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน โดยคาดว่าไม่เกิน 2 วันจะมีการออกหมายจับผู้กระทำผิด และจากปัญหาต่างๆ ที่เกืดขึ้นไม่อยากให้มีการใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองได้เสียสละและใช้ความอดทนอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงอยากให้ทุกคนได้ให้ร่วมมือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ลดความขัดแย้งอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะที่ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช พลเรือโท สำเริง จันทร์โส ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทางทะเลภาค 2 พร้อมคณะติดตามฝ่ายเสนาธิการ ได้เข้าเยี่ยมกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เรือประมงพื้นบ้าน พุ่งชนเรือตรวจการณ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและสอบถามถึงเหตุการณ์
/////////
อุไรวรรณ/ข่าว
พรรณี-ศศิภา/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช