อาจารย์จากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ศึกษาวิจัยออกแบบหลักสูตร “Love Language & Psychological Approach ดูแลใจตนเองและคนรอบข้าง” ลงพื้นที่ดูแลใจเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน ที่มีภาวะเครียด และภาวะซึมเศร้า ให้มีสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ลดอัตราการฆ่าตัวตายได้มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. สายฝน เอกวรางกูร อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มวล.ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากงานวิจัยเชิงพื้นที่พบว่าปัญหาในชุมชนมีทั้งการฆ่าตัวตาย ครอบครัวแตกแยก เด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เด็กและเยาวชนพบพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแก (Bully) การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทะเลาะวิวาท การใช้สารเสพติด การขาดแรงบันดาลใจในชีวิตและการเรียนรู้ การลาออกจากการเรียนกลางคัน และอื่นๆ ส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของทั้งพ่อแม่ และเด็ก และล่าสุดพบปัญหาผู้ใหญ่วัยทำงานมีภาวะเครียดจากการตกงาน ไม่มีรายได้ในช่วงสถานการ์ณโรคโควิด-19 ผู้สูงอายุเผชิญกับภาวะพึ่งพิง โดดเดี่ยว มีภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เมื่อวัดจากจำนวนปีที่สูญเสียไปเนื่องจากความพิการและความเจ็บป่วยพบว่าโรคซึมเศร้าก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นอันดับที่ 1 ของหญิงไทย อันดับที่ 3 ของชายไทย และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จ ในภาวะดังกล่าว “การดูแลใจ” ระหว่างวัยโดยการสร้างพลังบวกจากเด็กและเยาวชนเพื่อดูแลใจผู้สูงอายุให้คลายภาวะซึมเศร้า ขณะที่ผู้สูงอายุสามารถส่งต่อประสบการณ์ชีวิตเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนที่เป็นบุตรหลานได้มากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่วัยทำงานไม่ต้องกังวลกับการดูแลเด็กและผู้สูงอายุในบ้าน สามารถทำงานดูแลครอบครัวได้อย่างเต็มกำลัง
รองศาสตราจารย์ ดร. สายฝน กล่าวอีกว่า สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์และภาคีเครือข่าย จึงได้ลงพื้นที่ทำงานดูแลใจ เริ่มต้นจากการอบรมเชิงปฏิบัติการให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เครื่องมือที่บูรณาการ 2 แนวคิด คือ ภาษารัก 5 รูปแบบของแกรี่ แชปแมน (Gary Chapman) กับแนวคิดและเทคนิคทางจิตวิทยาของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) โดย ภาษารัก 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) คำพูด ด้วยการบอกรัก ให้กำลังใจ ชื่นชม ขอบคุณ ขอโทษ หรือการสอบถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน (2) การสัมผัส เช่น การสลามในมุสลิม การกอด การจับมือ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน (3) การดูแลใส่ใจบริการ เช่น การยกข้าวยกน้ำให้ผู้สูงอายุ ให้พ่อแม่ การช่วยทำงานบ้าน และการช่วยเหลืออื่นๆ (4) การให้ของขวัญของฝาก โดยไม่จำเป็นต้องรอเทศกาลหรือวันสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นของมีค่าราคาแพง และ (5) การใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน เช่น การพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหารแทนการเล่นมือถือ ดูทีวี โดยเครื่องมือ 5 ภาษารักนี้ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถดูแลจิตใจตนเองให้มีความรัก ยอมรับและเห็นคุณค่าในตนเอง และสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวกับผู้สูงอายุ พ่อแม่ เพื่อน และบุคคลรอบข้างได้ และการใช้เครื่องมือนี้จะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อใช้ 3 เทคนิคทางจิตวิทยาของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ เข้ามาช่วย คือ (1) การเชื่อมโยงพลังด้านบวกกับตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า หรือพ่อแม่ ด้วยการสบสายตาในลักษณะที่เข้าไปถึงหัวใจ เข้าอกเข้าใจ ใช้ท่าทีเป็นมิตร จริงใจ ใส่ความปรารถนาดีต่อกัน (2) การใช้คำถามลงสู่หัวใจ ด้วยการถามความรู้สึก ความคิด ความคาดหวังหรือความต้องการ และ (3) การฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ ผลการศึกษาวิจัยพบว่าการดูแลใจด้วยแนวคิดทั้ง 2 ส่วนทำให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า เห็นคุณค่าในตนเองและมีพลังกายและพลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเข้าใจกัน
รองศาสตราจารย์ ดร. สายฝน กล่าวต่ออีกว่า การศึกษาวิจัยโดยใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นเรื่องที่ง่าย สามารถทำได้ปกติในชีวิตประจำวัน มวล.
โดยคลินิกเพื่อใจ (Smile Clinic) สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้ร่วมกับศูนย์ Smile & Smart Center ซึ่งเป็นระบบดูแลนักศึกษาของ มวล. และเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานร่วมกัน และจัดองค์ประกอบเหล่านี้เข้าสู่หลักสูตรของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิตเพื่อพัฒนานักศึกษาพยาบาลให้เป็นวิทยากรกระบวนการหรือเยาวชนนักกิจกรรม (Youth Activist) ส่งต่อสู่เด็กและเยาวชนและคนรอบข้าง และจากการดำเนินงานทั้งหมดพบว่าจะเป็นผลดีมากหากทุกคนได้รู้จักเครื่องมือนี้ตั้งแต่วัยเด็ก หลักสูตร “Love Language & Psychological Approach ดูแลใจตนเองและคนรอบข้าง” พร้อมรับเปิดพื้นที่ดูแลใจผ่านกระบวนการ Experiential Learning, Positive Youth Development, Coaching สำหรับสถานศึกษา องค์กร และชุมชน เพื่อพัฒนาคนและสร้างการเติบโตภายในสู่การให้แก่คนรอบข้าง สนใจหลักสูตรติดต่อ คลินิกเพื่อใจ (Smile Clinic) คุณรัตนากร บุญกลาง โทร. 075-672101-2 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้คลินิกเพื่อใจ (Smile Clinic) สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มวล.เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้บริการทางจิตเวชและสุขภาพจิต สำหรับผู้ใช้บริการทางจิตเวชและสุขภาพจิตรวมทั้งผู้ดูแลไม่มีค่าใช้จ่าย