เปิดตำนาน 25 ปี“ครูมลรักษ์”พ่อพระนักกีฬาเรือพายเมืองไทย-อุปการะเลี้ยงดูเด็ก 200 คนสานฝันสู่นักกีฬาทีมชาติจนมีอาชีพมั่นคงแล้วกว่า 150 คน


เปิดตำนาน 25 ปี“ครูมลรักษ์”พ่อพระนักกีฬาเรือพายเมืองไทย-อุปการะเลี้ยงดูเด็ก 200 คนสานฝันสู่นักกีฬาทีมชาติจนมีอาชีพมั่นคงแล้วกว่า 150 คน-เตรียมตัวนักกีฬาเพื่อร่วมแข่งขันเรือ “มังกร” ชิงแชมป์โลกที่ประเทศฮ่องกงในเร็ว ๆนี้รวมทั้งกีฬาโอลิมปิกในอนาคตต่อไป
(3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายธนาชัย เกตุโรจน์ ทนายความชื่อดังและประธานชมรมทนายความเพื่อประชาชนเมืองคอนว่าพบข้าราชการครูคนหนึ่งในวัยใกล้เกษียณอายุราชการ แต่ยังทุ่มเทกับการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียเด็กและเยาวชนที่รักในกีฬาเรือพายให้เล่าเรียน ศึกษา และอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี อีกทั้งยังฝึกฝน ฝึกซ้อมเด็ก ๆ ให้เป็นนักกีฬาเรือพายแต่ละประเภทส่งเข้าร่วมการแข่งขันทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติจนไปถึงระดับนานาชาติ ชิงแชมป์เอเชียและโอลิมปิก ซึ่งคุณครูคนดังกล่าวทุ่มเท เสียสละ แรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ทั้งหมดเพื่อเด็ก เยาวชนได้เป็นกีฬาเรือพายมาตลอดระยะเวลา กว่า 25 ปี จนได้รับการยอมรับและกล่าวขานในวงการกีฬาเรือพายเมืองไทยและประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบันนี้
โดยนายธนาชัย เกตุโรจน์ ได้นำคณะผู้สื่อข่าวจากสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางไปเยี่ยม “ค่ายครูมลรักษ์” ชมรมเรือพายนครศรีธรรมราช อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสถานที่อุปการะเลี้ยงดู และฝึกอบรม ฝึกซ้อมทีมนักกีฬาเรือพายทุกประเภทที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือพายทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนานาชาติ ชิงแชมป์เอเชียและโอลิมปิก โดยพบนายมลรักษ์ ฆังมณี หรือ “ครูมลรักษ์” อายุ 59 ปี ข้าราชการครูโรงเรียนปากพนัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและควบคุมดูและการฝึกซ้อมนักกีฬาเรือพายทุกคน ทุกระดับแบบควงจร นั่งพักผ่อนอยู่ในค่าย ฯ ก่อนจะนำผู้สื่อข่าวไปตรวจดูพื้นที่ของค่ายเรือพาย “ครูมลรักษ์” ชมรมเรือพายนครศรีธรรมราช ทั้งในส่วนที่เป็นโรงเรือนเก็บเรือพาย ทุกประเภททุกขนาด โรงยิม ฯ เรือนนอนนักกีฬา และโรงครัว ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 4 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินส่วนตัวของนายมลรักษ์ ฆังมณี ทั้งหมด โดยในปัจจุบันมีนักกีฬาที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนายมลรักษ์ ทั้งหมดเกือบ 50 คนซึ่งนายมลรักษ์ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าเดือนละกว่า 1.2 แสนบาท ส่วนสถานที่ฝึกซ้อมบริเวณท่าเรือวัดรามประดิษฐ์ ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง เขตเทศบาลเมืองปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

นายมลรักษ์ ฆังมณี หรือ “ครูมลรักษ์”เปิดเผยว่า ตนได้รับการบรรจุเป็นครูประชาบาลเมื่อปี 2529 และย้ายมาเป็นครูโรงเรียนปากพนัง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาประจำอำเภอปากพนัง เมื่อปี พ.ศ. 2546 และได้จัดตั้งชมรมเรือพายจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นในปีเดียวกัน เนื่องจากอำเภอปากพนังและหลายอำเภอตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง เหมาะสมในการสนับสนุน ส่งเสริมกีฬาเรือพายทั้งเรือท้องถิ่นและเรือสากล ซึ่งมีการจัดแข่งขันเกือบตลอดทั้งปี ในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศจนถึงระดับนานาชาติและโอลิมปิก ตนจึงเริ่มวางแผนโดยเปิดรับนักเรียนทั่วไปที่สนใจกีฬาเรือพายมาอุปการะเลี้ยงดู ฝึกฝน ฝึกซ้อม พร้อมส่งเสียให้เล่าเรียนและส่งเข้าร่วมการแข่งขันในทุกกลุ่มอายุ ทุกประเภท ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง นักกีฬาในค่าย “ครูมลรักษ์” สามารถคว้ารางวัลหรือคว้าแชมป์ในแต่ละระดับอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยล่าสุดได้ 2 เหรียญเงินการแข่งขันกีฬาเรือพายซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม จนในวงการกีฬาเรือพายเมืองไทยระบุว่า “กีฬาเรือพายเมืองไทยค่ายครูมลรักษ์ไร้เทียมทาน” ไม่มีใครสู้ได้ ในขณะนี้นักกีฬาจากค่ายครูมลรักษ์จำนวน 2 คนได้รับการคัดเลือกให้เข้าเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเรือพาย “เรือมังกร” ชิงแชมป์โลกที่ประเทศฮ่องกง ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้นักกีฬาเรือพายในค่ายของต่างทุ่มเทฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดและประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือพายในท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติตั้งแต่ กีฬาซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ ชิงแชมป์เอเชีย ชิงแชมป์โลกและโอลิมปิกเกมส์ในครั้งต่อ ๆ ไปอีกด้วย

“ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ตนทุ่มเทอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ๆ อายุตั้งแต่ 9-18 ปี ที่อาจจะมีฐานะยากจน ด้อยโอกาสทางการศึกษา มีปัญหาครอบครัว นิสัยเกเรมั่วสุมยาเสพติดและอบายมุข สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอนาคต นำมาอบรมสั่งสอน ส่งเสียให้เล่าเรียนและฝึกซ้อมกีฬาเรือพาย จนสามารถพัฒนาตัวเองมีระเบียบวินัย ทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นนักกีฬาที่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ มีจิตสาธารณะพร้อมช่วยเหลือสังคม เป็นคนดีและเป็นกำลังในการพัฒนาในสังคมได้เป็นอย่างดีเยี่ยม สร้างชื่อเสียงให้กับพ่อแม่ วงศ์ตระกูลและประเทศชาติ ที่สำคัญทุกคนมีหน้าที่การงานที่ดีและมั่นคง โดยมีการสืบสานต่อยอดสืบทอดดูแลกันต่อเนื่องแบบ “พี่ดูแลช่วยเหลือน้อง” ซึ่งรุ่นพี่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จก็จะมาคอยดูแลรุ่นน้อง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างนักกีฬาและสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะนักกีฬาลูกศิษย์ค่ายครูมลรักษ์ สอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนแล้วกว่า 150 คน และในปัจจุบันมีนักเด็ก ๆ ที่อยู่ในค่ายและเป็นนักกีฬาเรือพายแต่ละประเภท แต่ละรุ่น ร่วมกินอยู่หลับนอนและฝึกซ้อมในค่ายครูมลรักษ์เกือบอีกว่า 40 คน”
ครูมลรักษ์ ฆังมณี กล่าวอีกว่า ตนเลี้ยงปลาไว้หน้าโรงเรือนนอนและจะนำลูกศิษย์มาดูฝูงปลา ก่อนจะอบรบสั่งสอนลูกศิษย์ทุกคน “ให้ทำตัวเหมือนปลา ที่ดูนิ่งสงบ ไม่โหวกเหวกโววาย ไม่ทำลาย ทำร้ายใคร แต่เมื่อถึงช่วงที่จะต้องแสดงพลังหรือหลบหนีภัยก็จะสามารถแหวกว่ายอย่างปราดเปรียวว่องไว”โดยเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาเรือพายในค่ายครูมลรักษ์ ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านความยากลำบากมาเป็นอย่างมากและเกิดขึ้นได้เพราะความทุ่มเท เสียสละ อดทนโดยเฉพาะตัวนักกีฬาจะต้องมีระเบียบวินัย ฝึกฝน ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่เด็ก ๆ สภาพและขนาดร่างกาย รวมทั้งพละกำลังจะไม่สามรถต่อกรสู้กับฝรั่งต่างชาติได้เลย ซึ่งน่าภาคภูมิใจมาก ๆ ที่เด็กทุกคนประสบความสำเร็จในการเป็นนักกีฬาเรือพายและอาชีพ หนาที่การงาน แม้ตนจะอายุมากแล้วจะเกษียณอายุราชการในปีหน้า ( พ.ศ.2566) แต่จะทุ่มเทแรงกาย แรงใจเพื่อพัฒนาส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่รักกีฬาเรือพายจนกว่าจะทำไม่ไหว และไม่เป็นห่วงเพราะมีการวางแนวทางรวมทั้งผู้สืบทอดต่อยอดต่อจากตนในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ร้อยโทกมล พงศ์อนันต์ นายทหารสังกัด กองบัญชาการช่วยรบที่ 4 ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร กล่าวว่า ตนได้นำบุตรชายวัย 12 ปีเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) มาเป็นลูกศิษย์และนักกีฬาในค่าย “ครูมลรักษ์” โดยนำมาฝากเมื่อปีที่แล้วตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5 นับเป็นลูกศิษย์คนล่าสุดของครูมลรักษ์ ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาพบพัฒนาการของลูกชายไปในทางที่ดีเยี่ยม ทั้งสุขภาพร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่เกินกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน มีระเบียบวินัย รู้จักแยะแยะ ช่วยเหลือผู้อื่น ๆ ตนพึ่งพอใจและดีใจมาก ๆ เชื่อว่าลูกชายจะสามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านกีฬาเรือพายจนถึงระดับทีมชาติในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน โดยในช่วงวันหยุดเสาร์ -อาทิตย์ ตนก็จะมาอยู่กับลูกชายและเด็ก ๆ เป็นการมาช่วยเหลือดูแลเด็ก ๆ ร่วมกับครูมลรักษ์ไปในตัวด้วย ตนยอมรับและคารวะคุณครูมลรักษ์ ว่าท่านพ่อพระของเด็ก ๆ ที่ชอบกีฬาเรือพายเป็นปูชนียบุคคลของบ้านเมืองอย่างแท้จริง.
ไพฑูรย์ อินทศิลา /นครศรีธรรมราช
3 ต.ค. 2565